
กาดหลวง (ตลาดวโรรส)
อ้างอิงข้อมูล : https://www.warorosmarket.com/about-us และ https://th.trip.com/hot/%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%AA/
ที่ตั้ง : 140 ถนน วิชยานนท์ ตำบล ช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่(https://maps.app.goo.gl/oLWi3bCUZq4r66bg7)
ความน่าสนใจ : เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ มีสินค้าที่นักท่องเที่ยวมากมายจะมาหาซื้อของฝากกัน และยังเป็นแหล่งรวมอาหารพื้นเมืองราคาถูกอีกมากมาย
ตัวอาคารมีสามชั้น อีกทั้งมีชั้นใต้ดิน และชั้นลอย มีแผงทั้งหมดประมาณ 500 แผง
ชั้นใต้ดิน ขายอาหาร และเครื่องดื่ม เด่นที่ขนมจีนซึ่งมีหลายร้านให้เลือก
ชั้น 1 ของ ฝาก ของที่ระลึก อาหาร ผักสดและผลไม้เมืองหนาว
ชั้นลอย 1 มีส่วนที่เป็นเขียงหมู และด้านหน้าที่ขายเสื้อผ้า รองเท้า และพวกเครื่องนอน
ชั้น 2 เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง และรับจ้างตัดเย็บผ้า
ชั้นลอย 2 เสื้อผ้าเมือง และรองเท้าแฟชั่น ปัจจุบัน ลานตรงกลางจัดเป็นลานโปรโมชั่น ขายสินค้าลดราคา
ชั้น 3 เสื้อผ้าพื้นเมืองและเสื้อผ้าสำเร็จรูป กระเป๋า และมีร้านขายอาหาร เครื่องดื่มตามสั่ง และห้องสมุดสำหรับเด็กอยู่ชั้นนี้ด้วย
ประวัติ : ที่ตั้งตลาดวโรรสในปัจจุบันเดิมทีเป็นที่ข่วงเมรุ หรือที่ปลงพระศพและเป็นที่เก็บพระอัฐิของเจ้าเชียงใหม่ทั้งหลาย แต่หลังจากที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ เสด็จกลับมาเยี่ยมจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้มีพระดำริให้ย้ายพระอัฐิไปบรรจุไว้ที่วัดสวนดอกและได้รวบรวมเงิน ส่วนพระองค์และเงินจากเจ้าอินทวโรรสฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้นมาลงทุนสร้างตลาดขึ้นในบริเวรข่วงเมรุนั้น และได้ประทานชื่อว่า “ตลาดวโรรส” ตามพระนามของเจ้าอินทวโรรส และชาวบ้านก็ได้เรียกกันในชื่อว่า “กาดหลวง” (ซึ่งอาจจะหมายความว่า ตลาดใหญ่หรือว่าตลาดของเจ้าหลวงก็ได้)
หลังจากพระราชชายาเจ้าดารารัศมีสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2476 เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ตั้งบริษัทขึ้นมาจัดการบริหารตลาดวโรรส โดยมีชื่อว่าบริษัท เชียงใหม่พาณิชย์ จำกัด และได้เป็นบริษัทของเจ้านายในสกุล ณ เชียงใหม่ตลอดมา จนถึงเมื่อเกิดสงครามเอเชียอาคเนย์ขึ้น เจ้านายบางท่านจึงได้โอนขายหุ้นบางส่วนให้ห้างหุ้นส่วนอนุสาร เชียงใหม่ เพื่อเข้าไปช่วยพัฒนาและบริหารงานตลาดให้มีความทันสมัยมากขึ้น เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ทางผู้ถือหุ้นก็ได้มอบหมายให้ ศาสตราจารย์ อัน นิมมานเหมินท์ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัทออกแบบต่างชาติเข้ามาทำการค้นคว้าและออกแบบ สร้างตลาดวโรรสให้เป็นตลาดเต็มรูปแบบและมีความทันสมัย โดยพัฒนาคู่กับตลาดต้นลำไยที่อยู่ข้างกัน โดยเริ่มดำเนินการในปีพ.ศ. 2492 และทำให้ทั้งสองตลาดนี้เจริญเฟื่องฟูและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ได้ เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่และทำให้ทั้งสองตลาดนี้วอดวายไปเสียหมด ถือเป็นการสิ้นสุดของตลาดวโรรสในยุคแรก หลังจากนั้นทางเจ้านายสกุล ณ เชียงใหม่ก็ไม่ได้มีความประสงค์จะลงทุนทำตลาดอีกต่อไปจึงได้โอนขายหุ้นให้ ทั้งหมดให้แก่ห้างหุ้นส่วนอนุสารเชียงใหม่และบริษัทอนุสาร จำกัด ทางบริษัทจึงได้มอบหมายให้ ศาสตราจารย์ อัน นิมมานเหมินท์ ผู้ออกแบบตลาดในครั้งแรก เป็นผู้ออกแบบตลาดขึ้นมาใหม่โดยทำเป็นตลาดแนวสูงเพื่อการใช้พื้นที่ให้คุ้ม ค่าสูงสุด โดย ศาสตราจารย์ อัน ได้ศึกษาดูงานจากตลาดต่างประเทศทั้งที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง และได้สร้างตลาดให้ตรงกลางโปร่งโล่งและมีโครงหลังคาแบบฟันเลื่อยเพื่อให้รับ แสงสว่างธรรมชาติได้เต็มที่พร้อมกับมีการระบายอากาศให้ถ่ายเทตลอดเวลา ซึ่งในสมัยนั้นตลาดวโรรสนับเป็นตลาดที่สวยงามและทันสมัยที่สุดของจังหวัด เชียงใหม่และภาคเหนือ อีกทั้งเป็นตลาดเดียวที่มีบันไดเลื่อนตรงกลางตลาด (ปัจจุบันใช้งานไม่ได้แล้ว) ตัวตลาดวโรรสใหม่นี้เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2515 และได้เป็นที่จับจ่ายใช้สอยของประชาชนชาวเชียงใหม่และผู้มาเยือนมาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้