
มดและแป้ง: เรื่องเล่าจากเชงเม้ง
เชงเม้ง (Qingming) เป็นพิธีกรรมที่เชื่อมต่อโลกคนเป็นกับโลกคนที่ล่วงลับ แต่หากมองออกมาดูสภาพแวดล้อมโดยรอบของพิธี เชงเม้งอาจทำให้เรามองเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกธรรมชาติและวัฒนธรรมได้
ช่วงปลายเดือนมีนาคม นอกจากอากาศที่ร้อนระอุแล้ว สำหรับลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนต่างรวมตัวกันไปไหว้บรรพบุรุษ ผมนั่งนึกดูว่าน่าจะเคยผ่านการไปเชงเม้งมามากกว่า 10 ครั้ง ในแต่ละครั้ง ผมมองพิธีกรรมนี้ไม่เหมือนกัน ปีนี้ก็เช่นกัน จากที่ผมเคยสนใจแต่อาหารที่กำลังจะได้กินหลังไหว้เสร็จ หรือเคยมองนาฬิกาเพื่อคำนวณเวลากลับบ้าน เราเริ่มสังเกตกิจกรรมที่เกิดขึ้นรอบตัวทั้งจากคนและสิ่งที่อาจนอกเหนือไปจากคน (ดักไว้ก่อนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องสยองขวัญ)
ขอเริ่มเล่าจากการไปไหว้เชงเม้งครั้งล่าสุด สุสานที่ผมไปอยู่ในจังหวัดสระบุรี พื้นที่นี้เรียกว่าชนบทเลยแหละ ถนนตลอดทางไปสุสานยังเป็นถนนลูกรัง เวลารถขับผ่านทีไร ฝุ่นควันจะลอยขึ้นมาเต็มไปหมด บริเวณรอบข้างเป็นภูเขาที่อุดมไปด้วยต้นไม้ ก่อนจะถึงทางเข้ามีวัดพุทธฯ และพื้นที่ชุมชนเรียงรายข้างทาง
ตามลำดับของพิธีกรรมเชงเม้ง เราต้องเริ่มจากการไหว้เทพเจ้าและเจ้าที่เจ้าทางก่อน หลังจากนั้นเราจึงเดินทางไปยังบริเวณสุสานของเหล่ากงและเหล่าม่า (ปู่และย่าทวด) เราเริ่มจัดเตรียมอาหารและผลไม้วางบนผ้าใบสำหรับการไหว้บริเวณหน้าหลุมศพ ในตอนนั้นอาโกวหรือป้าของผมเริ่มสังเกตว่า มีมดเดินมาไต่อาหารที่เราเตรียมมาเหมือนอย่างทุกปี อันที่จริง ผมพบว่าระหว่างทางเดินมายังหลุมของเหล่ากง มีมดเดินเรียงรายอยู่ตลอดทาง ที่นี่อาจเป็นถิ่นของมดและกิ้งกือมากกว่าพื้นที่ของคนอย่างเราเสียด้วยซ้ำ เพราะผมเองมาที่นี่แค่ 1 วันต่อปี
ปีนี้แตกต่างจากทุกปี อาโกวของผม เพิ่งเริ่มดูวิดีโอบน Tik Tok มาไม่นาน ปีนี้แกมากับนวัตกรรมไล่มดและแมลงวันที่เรียนรู้จากวิดีโอหนึ่ง รอบนี้โกวเตรียมแป้งมาโรยที่สุสานเพื่อป้องกันอาหารไหว้บรรพบุรุษจากมด และเตรียมน้ำมันพืชมาเพื่อเทลงบนกระดาษทิชชู่เพื่อจุดไฟไล่แมลงวัน ซึ่งมันดูจะได้ผลดีทีเดียว
ผมเห็นมดจำนวนหนึ่งพยายามหนีจากการโรยแป้งและมดอีกกลุ่มที่พยายามเข้ามาหาอาหาร แต่กลับติดกำแพงที่เกิดจากแป้ง พวกมันพยายามเดินเลาะกำแพงที่ว่าเพื่อหาช่องว่างที่มันสามารถเล็ดลอดเข้ามาได้ กำแพงที่สร้างเส้นแบ่งของมดกับอาหารไหว้บรรพบุรุษชวนให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งขึ้นมา พร้อมกับเริ่มกวาดสายตามองสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในบรรยากาศของเทศกาลไหว้เชงเม้ง
ข้อเขียนนี้เป็นบทสะท้อนจากประสบการณ์การไหว้สุสานบรรพบุรุษเมื่อครั้งที่ผ่านมา และได้แรงบันดาลใจจาก “Arts of Noticing” ชื่อบทในหนังสือ “The Mushroom at the End of the World” โดยนักมานุษยวิทยา Anna Tsing [1] ว่าด้วยการมองความสัมพันธ์ขนาดเล็ก เพื่อสะท้อนให้เห็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ใหญ่กว่านั้น ผมอยากชี้ให้เห็นว่าพิธีกรรมนี้อาจไม่ใช่เพียงเรื่องของครอบครัวและวิญญาณบรรพบุรุษ แต่สัมพันธ์กับชีวิตและธรรมชาติที่เปราะบาง
ธรรมชาติ
ในฐานะชีวิตมนุษย์ออฟฟิศในกรุงเทพฯ ผมมักเห็นคนรอบตัวพร่ำบ่นถึงความอยากไปเที่ยวธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงตัวผมเองด้วย เสมือนเราอยู่ห่างจากสิ่งที่เรียกว่า ธรรมชาติ เสียเหลือเกิน มากไปกว่านั้น ในยุคที่ถูกเรียกว่า “มนุษยสมัย” (anthropocene) [2] กิจกรรมของมนุษย์อย่างเรากลับเป็นต้นเหตุของการทำลายธรรมชาติเสียด้วยซ้ำ หากเราเชื่อแบบนั้น อาจหมายถึง เรามองโลกของธรรมชาติอยู่ห่างจากโลกของมนุษย์ แต่เมื่อลองมาคิดดูแล้ว สองสิ่งนี้อยู่ตรงข้ามกันจริงหรือไม่
ผมลองเริ่มจากการทบทวนว่าการไหว้เชงเม้งเป็นการรบกวนธรรมชาติหรือไม่ ด้านหนึ่ง การสร้างสุสานมนุษย์ในพื้นที่ป่าเขาอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ สำหรับสัตว์ การเข้ามาของมนุษย์ส่งผลต่อการอยู่อาศัยของพวกมัน ผมจำได้ว่า ครั้งแรกที่เห็นจอมปลวกจากการมาสุสานช่วงเชงเม้ง ซึ่งในปีต่อมา เราไม่เห็นมันแล้ว ผมยังเห็นนกเกาะอยู่ตามต้นไม้แต่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่หลุมศพ ซึ่งมีเสียงจุดประทัดให้ตกใจได้อยู่เสมอ ในทางกลับกัน มดอาจได้แหล่งอาหารจากการไหว้ผีบรรพบุรุษ แต่มักถูกมนุษย์ขัดขวาง เพราะอาหารบนจานจะถูกนำมารับประทานในครอบครัว หลังไหว้เสร็จเรากินอาหารต่อจากผีบรรพบุรุษได้ แต่เราไม่อยากกินอาหารที่มดเกาะ ผมเห็นร่องรอยของการโรยแป้งลักษณะเดียวกันที่หลุมศพใกล้เคียง คาดว่าพวกเขาโรยด้วยวัตถุประสงค์เดียวกับโกวของผม
นอกจากการรบกวนสัตว์ อีกกิจกรรมหนึ่งที่รบกวนสิ่งแวดล้อมได้แก่ การเผากระดาษหลังจบการไหว้ จากบรรยากาศร้อนรอบตัวที่ร้อนอยู่แล้ว กลับร้อนขึ้นไปอีก อีกทั้งควันจากการเผากระดาษยังระคายเคืองตาและจมูกหรืออาจทำให้ตัวเรามีกลิ่นควันติดไปด้วย พักหลังมานี้ พิธีกรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนถูกตั้งคำถามเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการเผากระดาษจำนวนมาก [3] แน่นอนว่ากิจกรรมการเผาไหม้เป็นหนึ่งในต้นตอของฝุ่น PM 2.5 [4]
หากย้อนดูแล้ว การเผาถือเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมทางความเชื่อของจีน เพราะการเผาสิ่งของที่ลูกหลานจัดเตรียมมานั้นเชื่อว่าสิ่งของเหล่านั้นจะถูกส่งให้สู่วิญญาณบรรพบุรุษ นักมานุษยวิทยา Mingyuan Zhang [5] เสนอว่า ชีวิตกับความตายเชื่อมกันผ่านการเผากระดาษ ไฟกลายเป็นสื่อกลางเชิงสัญลักษณ์ในการส่งสิ่งที่เราเผาไปยังโลกหลังความตาย เพราะพิธีกรรมนี้ไม่ใช่แค่การเผากระดาษแต่เป็นการส่งความรู้สึกและการอธิษฐานเพื่อเชื่อมต่อกับบรรพบุรุษของเราอยู่ด้วย เธอยังเสนอว่า การพยายามควบคุมการเผาในพิธีกรรมเหล่านี้โดยรัฐยังเกิดจากวิธีคิดสมัยใหม่ที่ต้องการปฏิเสธความเชื่อเหนือธรรมชาติและไม่ศิวิไลซ์ เรื่องนี้จึงเป็นอีกผลผลิตหนึ่งจากวิธีคิดเรื่องโลกธรรมชาติแบบประเพณีนิยมแยกขาดออกมาจากวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่
เล่ามาถึงตรงนี้ นี่คือการคิดถึงเทศกาลเชงเม้งโดยมองว่าสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติอย่างไรบ้าง แต่ในระบบนิเวศของเชงเม้งไม่ได้มีแค่สัตว์ ภูเขาหรือต้นไม้ การดูแลหลุมศพและสภาพแวดล้อมในพื้นที่สุสานยังเป็นเรื่องของเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย
วัฒนธรรม
วัฒนธรรมเชงเม้งไม่ได้มีแค่เราที่เป็นลูกหลานกับสุสานอากงและอาม่า ธุรกิจหลุมศพเหล่านี้ดำรงอยู่ได้เพราะโครงข่ายของกลุ่มคนทำงานในพื้นที่สุสาน เมื่อไปถึงหลุมศพทุกปี สิ่งแรกที่โกวและป๊าของผมสังเกตคือสภาพความเรียบร้อยของหลุมศพ เพราะครอบครัวของเราจ่ายเงินให้คนดูแลหลุมศพทุกปี และเขาจะออกมาบริการกางเต็นท์ผ้าใบกันแดดให้เสมอ เราเจอกันทุกปีจนผมจำหน้าตาเขาได้ พี่เขาเล่าว่า หลุมศพจะถูกแบ่งกันดูแล คนดูแลเป็นผู้อาศัยอยู่ละแวกนี้ ตัวเขาเองดูแล 50 หลุม รับเงินจากลูกหลานของคนในหลุมที่จะจ่ายปีละครั้งในราคาตามขนาดของหลุม สิ่งที่เขาต้องทำคือการซื้อน้ำมาเพื่อรดน้ำให้กับศพ ดูแลความเรียบร้อยของต้นไม้และหญ้าบนหลุม เพื่อไม่ให้มันขึ้นจนบดบังความสวยงามหรือปิดกั้นทางเดิน แต่การดูแลหลุมศพไม่ได้ทำตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่เน้นไปยังช่วงก่อนเทศกาลเชงเม้งไม่นาน เพราะหลังจากนั้นพวกเขาสามารถปล่อยให้น้ำฝนรดหญ้าและต้นไม้ โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อน้ำ
พี่เขาเล่าว่าธุรกิจดูแลหลุมศพเป็นของแม่เขามานาน ผมเองเคยเจอกับแม่ของเขาเช่นกันในสมัยเด็ก ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว หลังจากเขาตายคงไม่มีคนทำต่อเพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจงานดูแลสุสาน และเมื่อพูดถึงเด็ก ทุกครั้งที่ไปไหว้หลุมศพ มักมีเด็กวัยประถมเดินมาขอขนม นำดอกไม้มาขาย หรือแม้กระทั่งมาขอเงินเพื่อไปกินขนมแบบตรงๆ ซึ่งขอทานเหล่านี้มีตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงวัย บางคนเป็นลูกหลานคนดูแลสุสาน บ้างก็เป็นคนที่อยู่อาศัยในละแวก พอย้อนกลับมาคิด ผมรู้สึกว่าพื้นที่รอบสุสานมันช่างชนบทและยากจนเสียเหลือเกินในสายตาคนเมืองอย่างเรา แม้เวลาผ่านไปเป็นสิบปี ผมกลับเห็นการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตของคนน้อยมาก เด็กที่มาขอเงินยังมาทุกปี กลายเป็นว่า เราเองได้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ว่ามันแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเลย
ผมกลับมาคิดถึงสิ่งที่ผมมักได้ยินป๊าผมกับญาติมักพูดเชิงตัดพ้อกันว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่น่ามาไหว้สุสานกันแล้ว ใครตายเดี๋ยวนี้ เผาในวัดหมด ไม่อยากเป็นภาระกับลูกหลานด้วย หากคนมาไหว้สุสานบรรพบุรุษน้อยลง อาจส่งผลกระทบเชิงรายได้ของคนเหล่านี้ไม่น้อย
วัฒนธรรมชาติ
เรื่องที่ผมได้เล่าทั้งเรื่องผลกระทบต่อธรรมชาติและเรื่องกลุ่มคนที่มีรายได้จากวัฒนธรรมเชงเม้ง สองเรื่องนี้ไม่ได้แยกออกจากกันเสียทีเดียว วัฒนธรรม คำที่ถูกเข้าใจว่า ใช้อธิบายความเป็นมนุษย์ แต่วัฒนธรรมเชงเม้งกลับสัมพันธ์กับโลกของธรรมชาติผ่านการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่น ในขณะที่กระดาษเงินกระดาษทองในพิธีกรรมมาจากผู้ค้ารายย่อยที่ขายของอยู่ด้านหน้าทางเข้าสุสาน ในบริเวณเดียวกันยังมีแผงขายมะม่วงและผลไม้ตามฤดูกาลจากสวนในจังหวัดอีกด้วย
ระบบนิเวศของเชงเม้งเป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าโลกของธรรมชาติกับวัฒนธรรมไม่ได้แยกออกจากกัน แต่เราสามารถมองมันเป็นสิ่งที่พัวพันอยู่ร่วมกันได้เหมือนกับคำว่า “วัฒนธรรมชาติ’ (natureculture) [6] กิจกรรมแทรกแซงธรรมชาติ การเข้าไปเปลี่ยนพื้นที่ป่าเขาให้กลายเป็นสุสาน หรือการเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรม เหล่านี้ล้วนพึ่งพาธรรมชาติ และในขณะเดียวกัน ชาวบ้านในชุมชนต่างเป็นผู้ดูแลทั้งหลุมศพและพื้นที่สีเขียวโดยรอบ ในวันที่ประเพณีเก่าแก่กำลังถูกต่อต้านจากการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราอาจต้องมาทบทวนวิธีการอยู่ร่วมกัน (co-living) กับสิ่งต่างๆ รอบตัวให้มากขึ้น
อ้างอิงจาก
[1] Tsing, A. L. (2015). The mushroom at the end of the world: On the possibility of life in capitalist ruins. Princeton University Press.
[2] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2564). ยุคสมัยแห่งทุน: ข้อถกเถียงว่าด้วยมนุษยสมัยในโลกวิชาการมาร์กซิสต์. ใน เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (บ.ก.), Anthropocene: บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน. (น. 111-146). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[3] Bright Today. (7 เมษายน 2564). เทรนด์กำลังมา ! กระแส เช็งเม้งรักษ์โลก เริ่มมาตีตลาดเซ่นไหว้ในจีน. Bright TV. https://www.brighttv.co.th/news/global/cheng-meng-environment
[4] ศูนย์องค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (1 กุมภาพันธ์ 2567). รู้ทันฝุ่น PM 2.5. ศูนย์องค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. https://hub.mnre.go.th/th/knowledge/detail/65642
[5] Zhang, M. (2015). Powers of the dead: Struggles over paper money burning in Urban China. The University of Western Ontario Journal of Anthropology, 23(1).
[6] อนันต์ สมมูล. (24 กุมภาพันธ์ 2565). The Companion Species Manifesto : Dogs, People, and Significant otherness เขียนโดย Donna Haraway. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/312