รีวิวหนังสือเล่มโปรด อิชมาเอล Ishmael: จิตวิญญาณทัศนาจร!
“หากสูญสิ้นมนุษย์ จะมีความหวังไหม สำหรับกอริลา” และ “หากสูญสิ้นกอริลา จะมีความหวังไหม สำหรับมนุษย์”
อิชมาเอล (Ishmael): จิตวิญญาณทัศนาจร!
ชวนอ่านนวนิยายเชิงปรัชญา อิงประวัติศาสตร์และเสียดสีสังคมอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่!
ทั้งครบรสและมาพร้อมกับแนวคิดแบบองค์รวม (holistic view) ที่จะช่วยขยายความชัดเจนเกี่ยวกับ “ความผิดพลาดในการดำรงอยู่ของมนุษย์ยุคใหม่ได้อย่างเต็มเปี่ยม” มาแนะนำกันอีกแล้ว (เล่มนี้ต้องอ่านกันให้ได้ พลีสๆๆ ใครอ่านแล้วมาแชร์ให้กันฟังบ้างน๊า) เล่มนี้เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องความหมายของโลก เจตจำนงศักดิ์สิทธิ์ของโลกใบนี้ และชะตากรรมของมนุษย์ ที่ซึ่งทุกสิ่งอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต มันกำลังผิดปกติไปหมดแล้วสำหรับเราคนรุ่นใหม่!
เล่มนี้เลย อิชมาเอล Ishmael: จิตวิญญาณทัศนาจร เขียนโดย แดเนียล ควินน์ (Daniel Quinn) นักเขียนในดวงใจของตน ผู้ที่ได้จุดประกายหัวใจดวงใหม่ให้กับชาวโลก และผู้ที่ได้สร้างความกระจ่างแจ้งเกี่ยวกับปมปัญหาที่ว่า มนุษย์กลายมาเป็นมนุษย์ได้อย่างไร? ในบทบาทของผู้ถือครอง (Takers) และผู้ละทิ้ง (Leavers) ที่กลุ่มหนึ่งไม่ปฏิบัติตาม กฏขีดจำกัดของการแข่งขัน หรือ the law of limited competition และอีกกลุ่มหนึ่งปฏิบัติตามกฎข้อนี้มาโดยตลอด และทำตามกฎมาต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ โดยหมู่ผู้ละทิ้งที่ไม่เคยแบ่งแยกตัวเองออกไปจากกฎเหล็กอย่างที่ว่านี้เลย ให้กับพวกเราทั้งหลายได้มาไขปริศนาร่วมกันต่อไป!
ขอบคุณผู้แปล และสำนักพิมพพ์ที่ได้จัดตีพิมพ์หนังสือสุดคลาสสิกเล่มนี้สู่สังคม
แปลโดย กรรณิการ์ พรมเสาร์ จัดตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง
ที่จริงแล้วนวนิยายชุดนี้ของควินน์ มีทั้งหมด 3 เล่ม หากมีโอกาสเราจะทยอยมาเขียนรีวิวให้ได้ติดตามกันต่อเรื่อยๆ แน่นอน!
วันนี้มาเริ่มกับเล่มแรกสุดที่ได้รับการแปลถ่ายทอดเป็นภาษาไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 (จัดเป็นหนังสือโด่งดังระดับตำนาน หนังสือเปลี่ยนชีวิตและเปิดมุมมองอันกว้างใหญ่ต่อภารกิจการพิทักษ์โลก) แม้จะผ่านมาหลายปีแล้ว เแต่เล่มนี้ก็ยังส่งเสียงให้เราได้ตั้งคำถามอย่างไม่รู้จบสิ้นกับ “แม่วัฒนธรรม หรือ Mother culture” และการก่อตั้งอารยธรรมของสังคมมนุษย์ในยุคเริ่มต้นทำเกษตรกรรม มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ (อย่าพึ่งตกใจกันไปนะ เล่มนี้เป็นนิยายจึงอ่านง่ายและเข้าใจได้ง่ายดายอีกด้วย)
ครั้งแรกที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จากต้นฉบับ เราก็ยังไม่ค่อยเข้าถึงแก่นเรื่องได้เท่าไหร่ เพราะไม่ค่อยเข้าใจเลยทำไมต้องมีความยุ่งเหยิงอะไรขนาดนี้ในสังคมตะวันตก อาจจะเพราะเราเติบโตมาในสังคมที่เรียบง่ายมากกว่า การโตมาในชนบท จะมีความเป็นอิสระมากพอที่จะใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ผู้คนไม่ค่อยชอบแข่งขันกัน ผู้คนชอบแบ่งปันและเอื้ออาทรต่อกันเป็นซะส่วนใหญ่เสมอ แต่พอเจอความวุ่นวายใจที่เกิดขึ้นในเล่มนี้ เราก็แยกไม่ยังออกว่า มันคืออะไรหนอเรื่องนี้… แต่พอผ่านไปไม่ถึงปี ก็เริ่มได้เข้าใจว่า ทุกสิ่งอย่างที่ อิชมาเอล กล่าวไว้ใน “จิตวิญญาณทัศนาจร” มันกำลังเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าของเราอยู่ทนโท่ทุกวี่วัน! ทำไมเราพึ่งมาเอะใจ พอตกมาเมื่อปีก่อนได้พบว่ามีฉบับแปลนานมาแล้ว ก็เลยต้องอ่านอีกรอบนึง ผลปรากฏว่า “คงถึงเวลาแล้วที่เราๆ จะได้มีแรงบันดาลใจในการดำรงอยู่ด้วยวิถีชีวิตแบบใหม่กันเองบ้าง”
อิชมาเอล: จิตวิญญาณทัศนาจร!
หนังสือเล่มนี้เขียนรีวิวยากมาก เพราะไม่อยากเอาจุดระทึกใจของเรื่องออกมาลง แต่ก็ไม่รู้จะทำไงดีถึงจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนที่อ่านเล่มนี้แล้ว และจะไม่ไปสปอยล์กับคนที่กำลังจะอ่านอยู่…. เพราะเรื่องราวทั้งหมดคือความสมบูรณ์แบบตามคำที่อิชมาเอลได้บรรจงไว้ผ่านหน้ากระดาษตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วเถอะ เราจะขอเปิดฉากรีวิวดังจะกล่าวต่อไปนี้…. “หากสูญสิ้นมนุษย์ จะมีความหวังไหม สำหรับกอริลา” และ “หากสูญสิ้นกอริลา จะมีความหวังไหม สำหรับมนุษย์” มาเริ่มกันเร๊ยยยย!
อิชมาเอลตัวเอกของเรื่องได้แบ่งปันนิทานปรัมปรา (ที่อิงตามประวัติศาสตร์ของการเริ่มต้นทำเกษตรกรรมของมนุษย์ เมื่อประมาณ 10,000 ปีทีแล้ว) ให้กับลูกศิษย์ของเขาที่ว่าด้วยเรื่อง “แม่วัฒนธรรม หรือ Mother culture” ซึ่งก็คือ สิ่งต่างๆ ที่พวกเราได้ยิน ได้ฟัง ได้พบเห็นกันมาตั้งแต่แรกเกิด เพราะแม่วัฒนธรรมสอนว่า “สิ่งที่เราเห็นและเป็นอยู่นั้น ก็คือสิ่งที่มันจะควรเป็นอยู่แล้วละ กล่าวคือว่า สิ่งต่างๆ เป็นแบบนั้นหรือแบบนี้ได้อย่างไร แล้วเสียงของแม่วัฒนธรรมก็จะคอยบอกเราในหูซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนมันติดอยู่ในจิตสำนึกของเราอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องทำยังไงต่อดีกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเรา”
สำนวนหนึ่งที่อิชมาเอลใช้อธิบายผ่านนิทานอิงประวัติศาสตร์นี้ก็คือ ผู้ถือครอง หรือ Takers (จัดอยู่ในวัฒนธรรมยุคใหม่นี้) และ ผู้ละทิ้ง หรือ Leavers (จัดอยู่ในวัฒนธรรมอื่นๆ ของบรรพบุรุษของเรา อย่าง วัฒนธรรมของคนป่าและชนเผ่าพื้นเมือง) สำนวนทั้งสองนี้แสดงถึงคนอยู่สองกลุ่มในสังคมเรา
โดยผู้ถือครองคือ ผู้ที่เจริญแล้ว และผู้ละทิ้งคือ ผู้ที่ป่าเถื่อน ล้าหลัง ตามคตินิยมของสังคมยุคใหม่ พอพูดแบบนี้คุณก็จะเห็นภาพทันที เพราะแม่วัฒนธรรมสอนไว้เช่นนี้ อิชมาเอลถามลูกศิษย์ไว้ว่า “ในบรรดาวัฒนธรรมของคุณ คุณคิดว่ากลุ่มไหนต้องการทำลายโลกมากที่สุด” และที่สำคัญอิชมาเอลยังถามไว้ต่ออีกว่า คุณๆ ทั้งหลายในวันนี้ เคยรู้สึกกันไหมว่า ตัวเองโดนหลอกให้ทำอะไรหลายสิ่งอย่างอยู่รึเปล่าในอารยธรรมนี้ ถ้าคุณรู้สึกเช่นนั้น มาตามดูต่อกันว่า การโดนหลอกนี้ มันคืออะไรกันแน่!
อิชมาเอลได้พยามเล่าเรื่องให้กระชับ โดยแบ่งออกเป็นสามอย่าง เพื่อให้คนเข้าใจความหมายของแม่วัฒนธรรม ดังนี้:
1. นิทาน: มีเค้าเรื่องที่ว่าด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ โลก และพระเจ้า
2. การแสดง: การแสดงไปตามนิทานเพื่อทำให้มันกลายเป็นความจริง
3.วัฒนธรรม: คือประชาชนที่กำลังสวมบทบาทไปตามเค้าเรื่องของนิทาน แต่ว่ามีนิทานอยู่ 2 เรื่องที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งกำลังแสดงอยู่แล้วในระหว่างที่มนุษย์มีชีวิตอยู่ และนิทานเรื่องแรกเป็นของผู้ถือครอง ส่วนอีกเรื่องเป็นของผู้ละทิ้ง
นิทานเรื่องที่ 1 ปรากฏตัวอยู่ที่นี่ เมื่อ 2-3 ล้านปีก่อน โดยกลุ่มคนที่เป็น “ผู้ละทิ้ง” และพวกเขาบางส่วนก็ยังดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้อีกด้วย นิทานเรื่องนี้เป็นบทยาวที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยมีประวัติศาสตร์สำคัญๆ เกิดขึ้นเลย (ตามคำสอนของแม่วัฒนธรรม) และมันจบลงตอนเมื่อประมาณหนึ่งหมื่นปีที่แล้ว พร้อมกับการกำเนิดเกษตรกรรมในแถบตะวันออก (อายธรรมแรกเริ่มที่เมโสโปเตเมีย) ช่วงเวลานี้เองก็เป็นจุดเริ่มต้นของ นิทานเรื่องที่ 2 เริ่มแสดงตัวเมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว โดยกลุ่มคนที่เรียกว่าเป็น “ผู้ถือครอง” ที่เกือบจะจบสิ้นลงด้วยความหายนะ มันจึงเป็นนิทานเรื่องเดียวที่เป็นวัฒนธรรมของคุณที่รู้จักและยอมรับกันมาโดยตลอด เพราะแม่วัฒนธรรมสอนไว้ว่า สิ่งต่างๆ เป็นเช่นนี้ได้อย่างไรตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันนี้! นิทานเรื่องนี้เกี่ยวกับว่า “โลกนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมนุษย์ และมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกครองโลก” โดยกลุ่มผู้ถือครองที่เลือกมีชีวิตสั้นๆ หรือมีชีวิตที่รุ่งโรจน์ ตามท้องเรื่องนี้ก็คือ มนุษย์ถูกกำหนดให้เป็นศัตรูของโลก ส่วนชะตากรรมของมนุษย์ก็กำหนดให้มนุษย์พิชิตและปกครองครองโลก ซึ่งมันคือการทำลายล้างโลกไปในตัว!
อิชมาเอลเล่านิทานตอนแรกที่ว่า: ความหมายของโลก ก็คือว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกกำหนดให้เป็นบ้านและแหล่งกำเนิดของมนุษย์ นี่คือความหมายของโลก “โลกเป็นของเรา” โลกถูกสร้างมาเพื่อมนุษย์ มนุษย์ก็เลยทำอะไรก็ได้ต่อโลก แล้วแต่ความพอใจของพวกเขา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยมาจากช่วง 10,000 ปีมาจนถึงตอนนี้ และคุณก็ทำเช่นนี้ต่อไปตามใจชอบอย่างไม่สงสัย เพราะ คุณคิดว่าโลกเป็นของคุณ
มาตามกันต่อเลยดีกว่า! ความแตกต่างระหว่างสังคมของผู้ถือครองและสังคมของผู้ละทิ้งก็คือ ผู้ถือครองเชื่อว่า “มันมีอะไรบางอย่างที่ผิดพลาดในตัวมนุษย์เอง” บางอย่างที่ทำให้คนโง่เง่า ชอบทำลาย โลภมาก และสายตาสั้น ลักษณะที่สำคัญสุดของวัฒนธรรมผู้ถือครอง คือการลุ่มหลงเชื่อฟังคำสอนของแม่วัฒนธรรม และพึ่งพาอำนาจบารมีของศาสดา อย่าง โมเสส พระพุทธเจ้า ขงจื๊อ พระเยซู และพระโมฮัมหมัด (จุดนี้จึงชัดเจนมากตามความเป็นจริงในสังคมยุคใหม่ ที่ก็ปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมของผู้ถือครองโดยส่วนใหญ่ เพราะผู้คนทั่วโลกต่างก็นับถือศาสดาอย่างแน่วแน่ และยึดปฏิบัติตามกันมาโดยตลอด) ผู้ถือครองเชื่อว่า ไม่มีความรู้ที่เชื่อถือได้ในเรื่อง “มนุษย์ควรใช้ชีวิตอย่างไร” แต่ เหล่าศาสดารู้ว่า มนุษย์ควรใช้ชีวิตอย่างไร ซึ่ง ในหมู่ผู้ละทิ้ง กลับไม่มีประเพณีนับถือศาสดา และพวกเขาก็ล่วงรู้ได้เองว่า “ต้องใช้ชีวิตกันอย่างไร”
สิ่งที่โดดเด่นสุดในวัฒนธรรมของหมู่ผู้ละทิ้งก็คือ ไม่มีความเชื่อเรื่องศาสดา ที่จะเป็นผู้ที่มาจัดระเบียบชีวิตพวกเขาและออกกฎหรือหลักการชุดใหม่แก่พวกเขาเพื่อใช้ดำเนินชีวิต แต่ในหมู่ผู้ถือครองต้องนับถือศาสดา เพราะศาสดารู้ว่ามนุษย์ควรใช้ชีวิตอย่างไร (แต่ทำไมเราถึงจะรู้ไม่นะ ส่วนตัวเราคิดอยู่ว่า ที่จริงเราก็รู้ได้เองว่าต้องใช้ชีวิตยังไง เพียงแค่สังคมในยุคสมัยนี้ไม่เปิดโอกาสให้เราได้เลือกเองกันแม้แต่อย่างเดียว!
อิชมาเอลพร่ำบอกกับลูกศิษย์ของตนต่อไปว่า: เราไม่ต้องการให้ศาสดามาบอกเราหรอกว่า ”เราควรใช้ชีวิตอย่างไร” การก้าวข้ามกำแพงความคิดในวัฒนธรรมของคุณ มันทำได้ง่ายมาก ซึ่งก็แค่ต้องปฏิเสธเสียงของแม่วัฒนธรรม และปีนข้ามผ่านกำแพงนั้นไป
ผู้ถือครองปฏิเสธที่จะทำตาม กฎการรักษาความสงบ ซึ่งเป็นกฎที่ว่าด้วย “การถนอมชีวิตไว้เพื่อทุกชีวิต” ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของหญ้า ตั๊กแตน หมาป่า นกคุ่ม ฯลฯ และ “ในหมู่ผู้ละทิ้งล้วนปฏิบัติตามกฎข้อนี้มาอย่างคงเส้นคงวา มาโดยตลอดเป็นเวลา 3 ล้านปีที่แล้ว” และทุกวันนี้พวกเขาก็ยังทำตามกฎข้อนี้กันอยู่ (เราขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น ซึ่งนั่นก็คือ ชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกนั่นเอง) ฉะนั้นมีมนุษย์กลุ่มเดียวที่อิชมาเอลเรียกว่าผู้ถือครอง เมื่อหนึ่งหมื่นปีที่แล้วเป็นต้นมา ที่พวกเขาเริ่มใช้ชีวิตเหยียดหยามกฎข้อนี้ในทุกๆ เรื่อง และยกเว้นมนุษย์ออกจากกฎนี้ไป “เพราะสำหรับผู้ถือครอง “โลกเป็นของมนุษย์”
อิชมาเอลเล่าต่อว่า วัฒนธรรมของผู้ถือครองทำอยู่ 4 อย่างที่ผู้อื่นในชุมชนชีวิต “ไม่เคยทำ” และทั้งสี่อย่างนี้ก็เป็นรากฐานของอารยธรรมของผู้ถือครอง ได้แก่:
1. กำจัดคู่แข่งของตนด้วยการฆ่าทิ้งเฉยๆ ในขณะที่สัตว์อื่นๆ ไม่เคยไล่ล่าคู่แข่งเพียงแค่ฆ่าให้ตาย แต่จะฆ่าเพื่อกินเท่านั้น และสัตว์อื่นก็ไม่เคยคิดจะกำจัดคู่แข่งของตนให้สูญพันธุ์ไป
2. ผู้ถือครองทำลายอาหารของคู่แข่งอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีทางเอาอาหารของตัวเอง เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในชุมชนธรรมชาติ กฎในชุมชนธรรมชาติก็คือ “เอาเท่าที่จำเป็น และปล่อยสิ่งที่เหลือไว้”
3. ผู้ถือครองไม่ยอมให้คู่แข่งขันเข้าถึงแหล่งอาหารทั้งหมดในโลกนี้ และนี่ก็เป็นเรื่องที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ “ไม่ทำกันเลย”
4. ผู้ถือครองกักเก็บอาหารไว้ในยุ้งฉาง และกักตุนอาหารไว้ให้มีพร้อมกินตลอดเวลา แต่ทุกสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเก็บอาหารไว้ในร่างกายเท่านั้น พอหิวก็แค่ออกไปหาอาหารมากินใหม่
เรื่องที่ว่าไปตะกี้มันก็คือ กฎขีดจำกัดของกฎการแข่งขัน (หรือ The law of limited competition ที่เอ่ยไว้ด้านบน) ในชุมชนชีวิตที่ว่า “คุณอาจจะแข่งขันอย่างสุดขีด แต่คุณไม่สามารถไล่ล่าคู่แข่ง หรือทำลายอาหารของคู่แข่ง หรือปฏิเสธคู่แข่งไม่ให้เข้าถึงแหล่งอาหาร หรืออีกนัยหนึ่ง คุณอาจแข่งขันแต่ไม่ใช่ ต้องลุกขึ้นทำสงครามต่อกัน” (จุดนี้เราขอให้ลองนึกถึงภาพที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมทั่วโลกในตอนนี้ดูว่า มันกำลังเกิดสิ่งนี้อยู่หรือเปล่ากับทุกชีวิตอื่นที่นอกเหนือไปจากมนุษย์ ลองนึกดูได้จากวิธีการปกครองของเหล่าผู้นำโลก จากวิธีการทำเกษตรทั่วโลก จากวิธีทำอุตสาหกรรมขนานใหญ่ทั่วโลก จากวิธีแบ่งแยกชนชั้นของหมู่ผู้ถือครอง เป็นต้น)
ความรู้พื้นฐานทางนิเวศวิทยาในชุมชนธรรมชาติก็คือ ถ้ามีปริมาณอาหารเพิ่มขึ้น จำนวนประชากรก็จะเพิ่มขึ้นด้วย พอมีประชากรที่กินอาหารนั้นเยอะเกินไป อาหารก็จะลดน้อยลง เมื่อมีอาหารน้อยลง จำนวนประชากรก็จะลดลงด้วย ดังนั้นจำนวนอาหารและจำนวนผู้กินอาหารจะรักษาสมดุลของทุกสิ่งอย่างเอาไว้เสมอ
ลูกศิษย์ของอิชมาเอลถามคำถามเดียวกันเลยกับที่เราคิดอยู่ในใจที่ว่า “ทำไมต้องเรียกแม่วัฒนธรรมซึ่งเหมือนเป็นการทำให้เพศหญิงเป็นตัวร้ายทางวัฒนธรรม อิชมาเอลบอกกลับมาว่า เธอไม่ถือว่าเป็นตัวร้าย แต่ในวัฒนธรรมของผู้ถือครองและวัฒนธรรมของผู้ละทิ้ง มีแม่วัฒนธรรมที่บำรุงเลี้ยงสังคมนุษย์และมีวิถีชีวิตในแบบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง”
โดยในหมู่ผู้ละทิ้ง “แม่วัฒนธรรมสอนว่าให้สงวนรักษาวิถีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ และค้ำจุนตนเองให้ได้คงอยู่ตลอดไป” ส่วนในหมู่ผู้ถือครองเธอสอนว่า “ให้สงวนวิถีชีวิตที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าอ่อนแอ และเอาแต่ทำลายตัวเอง หมายถึงว่า ถ้ามันยังไม่เจริญก้าวหน้าก็แค่ต้องทำทุกอย่างมากกว่าเดิมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสมใจอยากแบบสุดๆ ไม่ว่ามันจะต้องแลกมาด้วยการทำลายล้างโลกก็ตาม!”
สำหรับเรา (ผู้เขียนบทรีวิว) มีคำถามที่น่าสนใจจากเล่มนี้อยู่ว่า เรากลายมาเป็นผู้ที่สูญเสียความทรงจำทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราได้อย่างไรกัน? มันก็เป็นเพราะว่าบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่เราศึกษากันมา มันมีอยู่เพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่รวมเอาเรื่องราวของมนุษย์ในหมู่ผู้ละทิ้งที่ดำรงอยู่มาก่อนเป็น 3,000,000 ล้านปีเข้ามาด้วย แต่เราได้เรียนรู้กันเพียงช่วงเวลา 10,000-12,000 ปีที่แล้วมาโดยส่วนใหญ่ ที่มีมนุษย์เพียงบางกลุ่มได้เริ่มต้นทำเกษตรกรรม และเน้นสอนให้เราเข้าร่วมสรรเสริญความมั่งคั่งของเหล่าผู้ถือครอง ที่ต่างก็เชื่อมั่นว่า “เป็นวิธีดำรงอยู่ที่ถูกต้องอยู่แบบเดียวสำหรับทุนคนอื่น” เพราะทุกครั้งที่ผู้ถือครองเข้าไปทำลายวัฒนธรรมของผู้ละทิ้ง ภูมิปัญญาความรู้ดั้งเดิมที่สั่งสมมาและที่ถูกทดสอบอย่างลึกซึ้งมาตั้งแต่กำเนิดมนุษยชาติ ก็สาบสูญไปจากโลกอย่างเอากลับคืนมาไม่ได้อีกเลย เพราะมีเหล่าผู้ถือครองขึ้นปกครองโลก เขาจึงเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นอื่นได้ศึกษาต่อกันมาเรื่อยๆ แต่มันจำกัดอยู่ในมุมมองของผู้ถือครองเองเพียงฝ่ายเดียว!
แม่วัฒนธรรมสอนว่า “ก่อนการปฏิวัติเกษตรกรรม ชีวิตมนุษย์ไร้ความหมาย ดักดาน ว่างเปล่า ไร้ค่า ชีวิตก่อนการปฏิวัตินั้น น่ารังเกียจ” (เราจึงคิดอยู่ว่านี่คงเหตุผลที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยุคนี้รู้สึกว่า ตัวเองสูงส่งกว่าผู้คนในอดีตที่อยู่ในป่าดง และไม่ทำเกษตรมั้งนะ) ภาพในหัวของคุณคงชัดเจนดีอยู่แล้ว แม่วัฒนธรรมยังสอนให้เราอีกด้วยว่า “วิถีชีวิตของผู้ละทิ้ง ไม่น่าสรรเสริญ ต้องหยุดดำรงอยู่แบบนั้น และหันมาอยู่ในแบบผู้ที่เจริญแล้วดีกว่า” โดยการพร่ำสอนไว้แต่เพียงว่า “ชีวิตในสังคมของชนล่าสัตว์และเก็บของป่า มีชีวิตที่ทุกข์ยากลำบาก /ทรหด /จนตรอก /น่าอดสู /ใช้ชีวิตเหมือนสัตว์ /ต้องต่อสู่ดิ้นรนไม่หยุดหย่อนเพื่อให้มีชีวิตรอด /มีชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย และอีก ฯลฯ”
แต่ในความเป็นจริงแล้วสังคมของผู้ละทิ้งกลับตรงกันข้ามจากที่แม่วัฒนธรรมกระซิบบอกเราไว้เป็นอย่างมาก เพราะสังคมของชนล่าสัตว์และเก็บของป่าเป็นกลุ่มชนที่ไม่เคยต้องเผชิญกับความอดอยากเลย ทั้งๆ ที่ก็ไม่กักเก็บอาหาร และไม่ปลูกอาหารเหมือนสังคมชนเกษตร /เป็นกลุ่มคนที่มีเวลาว่างมากที่สุดในโลก /เป็นกลุ่มคนที่ทำงานน้อยมากที่สุดในโลก และที่สำคัญเป็นสังคมมนุษย์กลุ่มเดียวที่ดำรงอยู่มาอย่างเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้าน และมีความมั่นคงโดยแท้มาตลอดเวลากว่าสามล้านปี (นี่คือความเห็นเสริมจากเราเอง ติดต่อและคัดค้านได้ทุกเมื่อ)
โชคร้ายที่ชีวิตมนุษย์ไม่ได้อยู่ในกำมือของพระเจ้าอีกต่อไป เพราะพอผู้ถือครองแหกกฎเหล็กของพระเจ้าได้ พวกเขาก็ไม่ต้องอยู่ใต้บารมีของพระเจ้าอีกต่อไป และทุกชีวิตอื่นๆ ก็อยู่ในกำมือของมนุษย์กลุ่มผู้ถือครองแทน (โปรดสังเกตและเปรียบเทียบดูกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมยุคใหม่ตอนนี้ กับวิธีการปฏิบัติตนต่อทุกชีวิตอื่นๆ ของมนุษย์บางกลุ่มในสังคมเราดูร่วมกันได้เลย)
เหตุผลของการเกิดปฏิวัติเกษตรกรรมขึ้นครั้งแรกก็คือ “มนุษย์ในหมู่ผู้ถือครองต้องการให้ชีวิตของตนอยู่ในมือของมนุษย์เอง ไม่ต้องอยู่ใต้โอวาทของพระเจ้าองค์ใด”
อิชมาเอลส่งท้ายให้ลูกศิษย์ไว้ว่า “มนุษย์มีหน้าที่ของตนเองอยู่ในโลกใบนี้ แต่ไม่ใช่หน้าที่เป็นผู้ปกครองโลก หน้าที่ของมนุษย์คือการค้นหาความเป็นไปได้อื่นๆ วิถีชีวิตในแบบอื่นๆ ที่จะช่วยเหลือให้เราอยู่รอดพ้นต่อไปได้ มนุษย์ต้องการเห็นภาพของโลกและภาพของตัวเองที่เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขา ไม่ใช่เพียงแค่โดนดุด่า หรือทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองโง่เง่าเต่าตุ่น” ฉะนั้น การหยุดมลภาวะไม่เป็นแรงบันดาลใจ การแยกขยะก็ไม่สร้างแรงบันดาลใจ การลดก๊าซฟลูออโรคาร์บอนก็ไม่สร้างแรงบันดาลใจ
แต่ถ้ามนุษย์คิดถึงตัวเองในรูปแบบใหม่ คิดถึงโลกในแบบใหม่ ได้ในแง่ที่ว่า โลกไม่ได้เป็นของมนุษย์ แต่มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลกเท่านั้น และมนุษย์ไม่ได้เป็นเจ้าครองโลกอีกต่อไป ด้วยการมองเห็นความเป็นไปได้ของวิถีชีวิตแบบใหม่ การโค่นระบอบนี้ก็จะเกิดขึ้นได้ในชั่วพริบตา เพราะถ้าคุณต้องการมีชีวิตรอด แต่หมู่ผู้ละทิ้งกำลังจะหายสาบสูญไปแล้ว และก็มีแต่พวกเขาที่จะแสดงตนให้ผู้ทำลายโลกเห็นว่า “โลกนี้ไม่ได้มีทางที่ถูกต้องอยู่แค่ทางเดียวในการดำรงชีวิต” ตราบใดที่คนในวัฒนธรรมของคุณยังเชื่อว่าทั้งโลกเป็นของมนุษย์ พวกเขาก็จะปฏิบัติต่อโลกตามเดิมที่เคยทำกันมาตั้งแต่หนึ่งหมื่นปีที่แล้วกันอยู่ต่อไป!
อิชมาเอลฝากบทเรียนไว้ให้พวกเราว่า “วิถีชีวิตของเหล่าผู้ละทิ้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการล่าสัตว์และเก็บของป่าเท่านั้น มันเกี่ยวข้องกับการปล่อยให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในชุมชนมีชีวิตได้อยู่สืบไป และในสังคมชนเกษตรเองก็สามารถย้อนกลับมาทำสิ่งนี้ได้เช่นเดียวกันกับชนล่าสัตว์และเก็บของป่ากันอีกครั้ง”
สิ่งที่สำคัญต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ “ไม่ใช่การกระจายอำนาจและความมั่งคั่งในคุก แต่มันเป็นการทำลายคุกมากกว่า” การหยุดฟังเสียงกระซิบจากแม่วัฒนธรรม สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการหยุดฟังเธอเสีย และปฏิบัติตนให้ต่างไปจากสิ่งที่เธอกระซิบบอกให้เราทำ และภารกิจพิทักษ์โลกก็จะเริ่มต้นขึ้นในทันใด!
ถ้าคุณเชื่อว่า โลกไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อสปีชีส์ใดสปีซีส์เดียว และที่แน่ๆ คือมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้พิชิตและปกครองโลก หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่าเรื่องตลกเช่นนี้มันได้จบลงไปแล้ว และราคงจะพร้อมรับฟังสิ่งใหม่กันมากขึ้น ด้วยการกระทำตัวในแบบใหม่ นั่นย่อมหมายความว่า “คุณกำลังหยุดเชื่อฟังแม่วัฒนธรรมแล้วล่ะ!”
เราขอจบรีวิวไว้ตรงนี้ (โปรดอ่านทั้งเล่มเอง) และหากสนใจแลกเปลี่ยนความเห็นหรือแชร์ความในใจต่อเล่มนี้ร่วมกัน ก็ส่งตรงถึงเราได้ที่อีเมล์นี้เลย: ([email protected]) เดี๋ยวมาสานต่ออีกกับเล่มหน้า ที่จะพาเราเจาะลึกเข้าไปในเรื่องราวของผู้ถือครองและผู้ละทิ้ง ที่ได้ส่งผลกระทบต่อโลกกันคะละแบบอย่างน่าใจหาย! พร้อมทั้งจะเป็นเล่มที่จะช่วยเปิดทางให้หมู่เรา ได้เฟ้นหาความหมายของการดำรงอยู่ของมนุษย์ร่วมกันอีกด้วย (ไว้เจอกันใหม่) ^.^
ปล. (การทำรีวิวหนังสือของเราไม่ใช่เพื่อการโฆษณาทางการค้า แต่เป็นเพียงความสนใจส่วนตัว ที่อยากจะแบ่งปันมุมมองของตนร่วมกับผู้คนที่สนใจแนวทางเดียวกัน เพื่อใช้เป็นงานอ้างอิงงานเขียน การศึกษาอิสระ หรือใช้ยกตัวอย่างในการถกเถียงเรื่องทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ และเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเท่านั้น!)