สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา.

สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา.

“สังขาร เป็นทุกข์อย่างยิ่ง”

สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่งนั้น เพราะสิ่งที่เรียกว่าสังขารนั้นมีอยู่หลายความหมาย สังขารหมายถึงรูปและนาม คือ ร่างกายกับจิตใจนี้ก็มี สังขารอย่างนี้เป็นทุกข์ต่อเมื่อมีอุปาทานเข้าไปยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นของตน ลำพังสังขารล้วน ๆ ไม่ถือว่าเป็นทุกข์ชนิดที่เป็นเครื่องทรมานใจหรือทำความทนยากให้แก่บุคคล

สังขารโดยศัพท์แล้วแปลว่า “ปรุง” คือ กระทำครบถ้วนอย่างที่เราเรียกกันว่าปรุง ถือเอาตามรูปศัพท์ตรง ๆ อย่างนี้จะดีกว่า โดยจำกัดความลงไปว่า การที่ “ปรุง” นี้ หมายถึงกิเลสเป็นผู้ปรุง ต่อเมื่อมีอวิชชา ความโง่ ความหลง (ซึ่งเป็นต้นเหตุของกิเลสเหล่าอื่น เช่น โลภะ โทสะ โมหะ) เกิดขึ้นแล้วก็มี การปรุง คือปรุงจิตใจให้ยึดมั่นเป็นนั่นเป็นนี่ มีนั่นมีนี่เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด

คำว่า “ปรุง” ในที่นี้หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานรวมอยู่ด้วยเสร็จ จึงเรียกว่าเป็นการปรุง ถ้าไม่มีอุปาทาน ไม่มีกิเลสตัณหาอุปาทานเข้าไปรวมอยู่ด้วยแล้ว การเกิดขึ้นเหล่านั้นไม่เรียกว่าการปรุงในที่นี้ คือ ไม่เรียกว่า “ปรุง” ในประโยคที่ว่า “สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา” ของปรุงหรือเครื่องปรุงทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง หมายความว่า มันปรุงจนเป็นกิเลสตัณหาจนเป็นอุปาทานมีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว อะไร ๆ ก็เป็นทุกข์ไปหมด ถ้าไม่ปรุงในทำนองนี้แล้วก็ไม่มีความทุกข์ การปรุงในทำนองนี้มีความทุกข์ และเป็นความทุกข์อยู่ในตัวการปรุงนั่นเอง การปรุงทำนองนี้แหละที่เรียกว่า “สังสารวัฏฏ์” คือ วนเวียนอยู่ในลักษณะ ๓ อย่าง กล่าวคือ กิเลสเป็นเหตุให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป เมื่อกระทำแล้วเกิดผลขึ้นมา ก็มีกิเลสที่จะยินดียินร้าย เพื่อทำซ้ำหรือทำอย่างอื่นต่อไปอีก วนเวียนอยู่ในเรื่องกิเลส เรื่องกรรมและเรื่องผลของกรรมเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุดนี้คืออาการที่เรียกว่าเป็นการปรุงโดยแท้จริง ในประโยคที่ว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง คือ ความปรุงไม่หยุดนั้นเองเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

พุทธทาส อินทปัญโญ
แสดง ณ โรงธรรม วัดธารน้ำไหล ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๐๘

แม้จะเจ็บปวดแต่ก็งดงาม