บทรีวิว​หนังสือ Braiding​ Sweetgrass!

บทรีวิว​หนังสือ Braiding​ Sweetgrass!

ใครที่กำลังตามหาหนังสือแนวคิดอนุรักษ์​สิ่งแวดล้อม (บนฐานของความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นที่สุด)​ และแนวคิดการกลับคืนสู่โลกธรรมชาติ​กันอยู่บ้างน๊า?​ หนังสือเล่มนี้มีคำตอบเพียบเลย มาตามดูกันว่า​หัวใจดวงนั้นต้องเป็นแบบไหนกันแน่ วันนี้คณะผู้แปลขอเรียกน้ำย่อยความน่าตื่นตาตื่นใจของหนังสือเล่มนี้ด้วยคติคำสอนดั้งเดิมของชนพื้นเมืองอเมริกัน ที่เรียกกันว่าเป็นองค์ความรู้ดั้งเดิมทางนิเวศวิทยา หรือ Traditional ecological knowledge (TEK)!

ชื่อหนังสือ Braiding Sweetgrass : Indigenous Wisdom, Scientific Knowledge and The Teachings of Plants  เขียนโดย Robin Wall Kimmerer

ความนิยมของหนังสือ: NATIONAL BESTSELLER!

คณะผู้แปล: กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม |เบ็ญจลักษณ์ เด่นดวง |อนุธิดา มูลนาม |อารียา ติวะสุระเดช

คณะผู้แปล ขอเชิญชวนอ่านหนังสือแนวหัวใจอนุรักษ์ในแบบฉบับของชนพื้นเมืองอเมริกัน​ (Native-Americans)​ จากฝั่งอเมริกาเหนือ​ ชนพื้นเหมืองหลายกลุ่มที่เรียกตนเองว่า ​Anishinabekwe (คำอ่าน อานิชาเบกเว) ชื่อเรียกกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันที่อาศัยอยู่บริเวณ Great Lakes หรือทะเลสาบน้ำจืดทั้งห้าที่มีขนาดใหญ่มากสุดในโลก พวกเขาอาศัยอยู่ในภูมิภาคของประเทศแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมตัวกันมาจากหกกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกัน

หนังสือเล่มนี้จัดอยู่ในหมวด: นิเวศวิทยา |พฤกษศาสตร์ |พืชพรรณ |สิ่งแวดล้อม |หนังสือสารคดี |ชีววิทยาศาสตร์ |จิตวิญญาณ |คำสอน |และภูมิปัญญา

คำสำคัญของเล่ม: ชนพื้นเมือง |ธรรมชาติ  |วิทยาศาสตร์ |ชนพื้นเมืองอเมริกัน |ความรู้ดั้งเดิมทางนิเวศวิทยา |ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ |นิเวศวิทยา |พฤกษศาสตร์ |พืชพรรณ |สิ่งแวดล้อม |หนังสือสารคดี |ชีววิทยาศาสตร์ |จิตวิญญาณ |คำสอน |และภูมิปัญญา

ชวนรู้จักกับผู้เขียน: Robin Wall Kimmerer เธอเป็นทั้งคุณแม่ พร้อมทั้งเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเป็นสมาชิกของชนพื้นเมืองชาว Potawatomi  งานเขียนเล่มแรกของเธอคือ Gathering Moss ซึ่งได้รับรางวัลงานเขียนธรรมชาติโดดเด่นจาก John Burroughs Medal งานเขียนของเธอปรากฏเผยแพร่อยู่หลายแห่ง อาทิ สำนักพิมพ์ Orion  นิตยสาร Whole Terrain และในวารสารวิทยาศาสตร์อีกหลายสำนัก เธออาศัยอยู่ที่เมือง Syracuse ในรัฐนิวยอร์ก เธอเป็นศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ของสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย SUNY คณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและวนศาสตร์  เธอเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บริหารประจำศูนย์กลางประสานงานสำหรับชนพื้นเมืองอเมริกันและสิ่งแวดล้อม ชวนอ่านบทรีวิวหนังสือเล่มแรกของผู้เขียน ได้ที่นี่เลย Gathering Moss: A Natural and Cultural History of Mosses

สิ่งที่คณะผู้แปลมุ่งหวังที่จะนำเสนอต่อสังคมไทย:

เพื่อก้าวไปสู่การเป็นพลเมืองที่มีจิตสำนึกรู้ต่อระบบนิเวศและสิ่งแววดล้อมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อก้าวไปสู่ความตื่นรู้เชิงลึกเกี่ยวการอนุรักษ์ การฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัย การฟื้นฟูธรรมชาติ และที่สำคัญคือ การวางตัวของมนุษย์ในระบบนิเวศหนึ่งๆ โดยการกลับคืนสู่ผืนดินถิ่นฐาน เพื่อกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินที่เคยอาศัยอยู่มา ได้เฉกเช่นเดียวกับชนพื้นเมืองกันอีกครั้ง โดยการกลับคืนไปเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับแหล่งที่อยู่อาศัยของตนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ที่ซึ่งเคยเป็นทั้งบ้าน แหล่งพึ่งพา และเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงบ่มเพาะ ทั้งทางกายและจิตวิญญาณให้กับมวลมนุษยชาติมาโดยตลอด

จากความรู้ดั้งเดิมทางนิเวศวิทยาของชนพื้นเมือง และองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาตามหลักการวิทยาศาสตร์  งานเขียนของ Robin Wall Kimmerer เล่มนี้คือโอกาสสำคัญครั้งใหญ่ที่ผู้คนจะได้รับรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความลึกซึ้งของภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนพื้นเมืองเมริกัน ของเหล่าพืชพรรณ และความสัมพันธ์กันของผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในโลกธรรมชาติ ซึ่งคณะผู้แปลเชื่อมั่นมากว่า วิถีชีวิตมนุษย์ในสังคมยุคใหม่ของเรา ยังขาดองค์ความรู้ในหมวดหมู่นี้เป็นอย่างมาก คณะผู้แปลยังเชื่อมั่นอีกด้วยว่า มวลมนุษย์ทั้งหลายจะเป็นผู้ที่มีความสุข ไร้ภัยพิบัติ และอยู่ร่วมโลกกับทุกสิ่งมีชีวิตทั้งหมดได้อย่างสมดุลกลมกลืนมากยิ่งขึ้น คงจักต้องลองเริ่มต้นกันใหม่ ด้วย “การยกระดับความตระหนักรู้ทางนิเวศวิทยาเชิงลึก และความเชื่อทางจิตวิญญาณ ให้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันไว้ก่อนเป็นลำดับแรก”

คณะผู้แปลขอเรียกน้ำย่อยด้วยคติคำสอนดั้งเดิมของชนพื้นเมืองอเมริกันจากบางบทตอน ที่ลึกซึ้งและกินใจเป็นพิเศษ ซึ่งอาจจะช่วยดลบันดาลให้หัวใจของพวกเราได้ล่องลอยไปด้วยกันสักครั้งหนึ่ง ด้านล่างนี้เลย!

            “สำหรับพวกเราทุกคน​ การเป็นคนพื้นเมืองในพื้นที่สักแห่งหนึ่ง​ หมายถึง ​การดำรงชีวิตอยู่ราวกับว่าอนาคตลูกหลานของคุณมีความสำคัญยิ่ง การดูแลผืนแผ่นดินราวกับชีวิตของตน​ ทั้งทางจิตวิญญาณ และทางวัตถุ​ต่างก็พึ่งพาดินผืนนั้น”

            “ในจิตของผู้ตั้งรกราก​ ที่ดินถือเป็นทรัพย์สิน​ อสังหาริมทรัพย์​ ทุนทรัพย์ หรือ​เป็นทรัพยากรธรรมชาติ​ แต่สำหรับชน​พื้นเมือง​ของพวกเรา​ ที่ดินเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง​ เป็นเอกลักษณ์​ เป็นจุดเชื่อมโยงกันกับบรรพบุรุษ​ของเรา​ เป็นบ้านสำหรับมิตรสหาย​ที่มิใช่มนุษย์ เป็นร้านยาของเรา​ เป็นห้องสมุดของเรา​ และเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงพวกเราทั้งมวล”

          “ในหนทางการหยั่งรู้ของชนพื้นเมือง เราจะเข้าใจสรรพสิ่งได้ก็ต่อเมื่อ เราเข้าใจมันด้วยสัมผัสทั้งสี่ของมนุษย์เรา ดวงจิต ร่างกาย อารมณ์ และจิตวิญญาณ” และการที่จะเป็นคนเจ้าถิ่นในพื้นที่ใดสักแห่งได้ เราจะต้องเรียนรู้ภาษาพูดของพื้นที่แห่งนั้นอีกด้วย”

            “ภาษาของชาว Patawatomi และภาษาชนพื้นเมืองโดยส่วนใหญ่ เราใช้ศัพท์คำเดียวกันเพื่อเรียกสิ่งมีชีวิตในโลกธรรมชาติ เหมือนคำที่เราใช้เรียกญาติมิตรของพวกเรา เพราะว่าพวกเขาก็เป็นครอบครัวของพวกเรา”

 นักศึกษาในรายวิชานิเวศวิทยาคนหนึ่งพูดถึงเรื่องความแตกต่างทางภาษาศาสตร์ไว้ใน​ตัวบทหนึ่งว่า​ “นี่หมายความว่า หากพูดภาษาอังกฤษ คิดเป็นภาษาอังกฤษ บางทีมันก็ทำให้เราไม่เคารพธรรมชาติแล้วรึเปล่า? จากการปฏิเสธว่าทุกชีวิตอื่นมีสิทธิที่จะมีตัวตน? หลายอย่างคงจะแตกต่างกันไปมาก ถ้าหากไม่มีอะไรที่เรียกว่า มัน หรือ it”

          “การเป็นคุณแม่ที่ดี จักต้องพิทักษ์แหล่งน้ำ การเป็นคุณแม่ที่ดี หมายถึง การสอนให้ลูกหลานมีจิตห่วงใยต่อโลก และดังนั้นฉันจึงทำให้ลูกหญิงได้เห็นว่าต้องดูแลสวนอย่างไร ตัดแต่งกิ่งต้นแอปเปิลอย่างไร”

            “วัฒนธรรมแห่งความกตัญญู ควรจะเป็นวัฒนธรรมของการพึ่งพาอาศัยกันอีกด้วย แต่ละคน จะมนุษย์หรืออมนุษย์ ต่างก็ผูกเชื่อมความสัมพันธ์กับทุกชีวิตอื่น ก็เหมือนทุกสิ่งมีชีวิตต่างก็มีบทบาทหน้าที่หนึ่งสำหรับฉัน ฉันเองก็มีอีกบทบาทหนึ่งต่อพวกเขา ถ้าหากสัตว์ตัวหนึ่งมอบชีวิตของตนเพื่อเป็นอาหารแก่ฉัน ฉันเองก็จะมอบชีวิตกลับไปเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของสัตว์ตัวนั้นด้วย”

คติเตือนใจเล็กๆ น้อยๆ ชวนจับจิตเราให้คล้อยตาม มีเยอะมากในหนังสือเล่มนี้ อาทิเช่น:

          “ตราบใดที่เราฟื้นฟูเยียวยาโลก​ โลกก็จะดูแลรักษาพวกเราตราบนั้น”

           “ บทบาทของการเป็นมนุษย์ก็คือการแสวงหาความสมดุลกลมกลืน”

            “จงค้ำจุนสิ่งที่หล่อเลี้ยงคุณมา และโลกก็จะคงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์”

          “การฆ่า ใครสักคน ให้ความรู้สึกต่างไปจาก การฆ่า มันสักตัว”

คำสอนดั้งเดิมทางนิเวศวิทยาที่น่าคิดตามว่าทำไม ก็มีเยอะมาก อาทิเช่น:

          “มนุษย์ทำดินเพื่อการเกษตรโดยการไถพรวน ส่วนดินป่าเพียงบังเกิดขึ้นมาเอง ผ่านสายใยแห่งการพึ่งพาและตอบแทนซึ่งกันและกัน ซึ่งน้อยคนนักจะมีโอกาสได้เฝ้าเห็นเป็นพยาน”

           “ เรื่องเล่าของ​ชาว​ Potawatomi จดจำได้ว่า​เหล่าพืชพรรณและหมู่สัตว์​ทั้งมวล​ ​รวมถึงมนุษย์​ด้วย​ ล้วนเคยพูดเป็นภาษาเดียวกัน​ เราสามารถ​แบ่งปันเรื่องราวชีวิตต่อกันและกัน​ว่าเคยเป็นมาอย่างไร แต่พรสวรรค์​นี้สูญหายไปแล้ว และเราต่างก็โหยหาถึงมัน”

            “หญ้าหอมศักดิ์สิทธิ์​คือผู้สอนแห่งการเยียวยา​ คือสัญลักษณ์​ของความเมตตา​กรุณา​และความเวทนา​ ต้นหญ้าหอมย้ำเตือนฉันว่ามันมิใช่ผืนดินที่แตกสลายไป​ แต่มันคือความสัมพันธ์​ของพวกเราเอง​ หากเราฟื้นฟูผืนแผ่นดิน​ ผืนแผ่นดินนั้นก็จะฟื้นฟูตัวพวกเราไปด้วย”

         “ ศาสตร์​แห่งการฟื้นฟูทางนิเวศวิทยา ​คือสิ่งที่มิอาจแยกออกจากศาสตร์​แห่งการฟื้นฟูทางวัฒนธรรม​ ทางจิตวิญญาณ​ และมิอาจแยกออกจาก​จิตวิญญาณ​ของความเป็นผู้ให้​ และจิตวิญญาณ​แห่งการสร้างโลกขึ้นใหม่”

          “ตามวิถีของพวกเรา ทั้งหญิงและชายต่างก็มีความสมดุลกัน ผู้ชายรับผิดชอบเรื่องการดูแลไฟ ส่วนผู้หญิงรับผิดชอบเรื่องการดูแลน้ำ ทั้งพลังน้ำและพลังไฟต่างก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน เราจำเป็นต้องมีทั้งสองอย่างดำรงอยู่ร่วมกันไป นี่จึงเป็นอีกมิติหนึ่งของไฟที่หลงลืมกันเสียมิได้”

ความน่าสนใจของหนังสือ: หนังสือ “Braiding Sweetgrass” ของ Robin Wall Kimmerer ได้หลอมรวมภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองและความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไว้ด้วยกันอย่างลึกซึ้ง หนังสือเล่มนี้ติดอันดับยอดนิยมไปทั่วประเทศสหรัฐฯ ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2020 และได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ เกือบถึง 20 ภาษาแล้ว! (คณะผู้แปลหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีฉบับภาษาไทยสู่สังคมเราในเร็วๆ นี้ด้วยเช่นกัน)

โดยเธอกล่าวต่อผู้สื่อข่าวของเดอะวอชิงตัน โพสต์ว่า “ถ้าหากชาวโลกกำลังฟังอยู่ ฉันจึงขอรับบทเป็นผู้พูด” เมื่อหลายปีก่อนเธอได้ส่งต้นฉบับไปให้กับ สำนักพิมพ์ Milkweed (สำนักพิมพ์อิสระและไม่แสวงผลกำไรในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐฯ) ซึ่งเป็นต้นฉบับเล่มหนามาก ประมาณ 750 หน้า  แต่ท้ายที่สุดทั้งบรรณาธิการสำนักพิมพ์และเธอก็ช่วยกันเกลาต้นฉบับสำหรับตีพิมพ์ให้เหลือน้อยลง และยังกินใจผู้อ่านมากเป็นที่สุด!

            Kimmerer ยังกล่าวต่อว่า ตอนนั้นตนส่งต้นฉบับไปโดยไม่มั่นใจเท่าไหร่ว่าจะมีคนอยากอ่านหนังสือแนวนี้ ตนไม่มีผู้ช่วย ตนไม่ได้เป็นนักเขียนมืออาชีพ ตนเป็นเพียงนักพฤกษศาสตร์ แต่มีแรงกระตุ้นบางอย่างที่ทำให้ตนรู้สึกว่าอยากจะสื่อสารมันออกมาผ่านตัวบท หนังสือเล่มนี้ยังทำให้บรรดาผู้อ่านได้ย้อนคิดถึงมุมมองและการปฏิบัติตนต่อโลกธรรมชาติอีกครั้งอย่างตระหนักรู้! นอกจากนี้แล้ว Kimmerer ก็กำลังเขียนหนังสือเล่มที่สาม ซึ่งต่อเนื่องมาจากเล่มก่อนของเธอ ซึ่งในเล่มหน้านี้จะเกี่ยวกับการมองเห็นโลกธรรมชาติที่เต็มไปด้วยตัวตน นั่นหมายถึง การทำให้โลกแห่งพืชพรรณมีชีวิตและจิตใจ!

          Kimmerer ยังขอให้เหล่าผู้อ่านเคารพให้เกียรติความประเสริฐต่างๆ ของโลก จงฟื้นฟูสิ่งเหล่านั้นกลับคืนมาให้มากกว่าที่จะฉกฉวยเอาไป จงปฏิเสธวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่มีรากฐานบนความโลภมาก เธอเชิญชวนให้พวกเราได้เรียนรู้จากพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้สอนทางธรรมชาติ “ถ้าเราใช้สอยพืชพรรณด้วยความเคารพนับถือ พืชเหล่านั้นก็งอกงามเติบโต ถ้าหากเราไม่สนใจใยดี พืชนั้นก็จะหายตัวไป” เธอกล่าว “ฉันสัมผัสได้ในฐานะนักสิ่งแวดล้อมคนหนึ่งถึงความปรารถนาครั้งใหญ่ของสาธารณชน ความปรารถนาที่พวกเขาอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของที่ใดสักแห่ง” Kimmerer กล่าว่า “ฉันครุ่นคิดอยู่ว่ามีผู้คนมากเพียงใดที่ขาดวัฒนธรรม ขาดถิ่นฐานบ้านเกิด ผู้คนมักพูดคุยกันว่า (ผมไม่เหมาะกับที่นี่ คือคำที่ฉันได้ยินจากผู้คนเสมอ ความรู้สึกของการตัดขาดเช่นนี้ยังมีส่วนมาจากการปฏิบัติตนของเราต่อผืนดินแห่งนั้นด้วย” ในช่วงระหว่างการพูดคุยในเวทีต่างๆ เธอก็โน้มน้าวคนให้ถามคำถาม ตอบคำถาม เชิญชวนให้เหล่าผู้อ่านและผู้รับสารได้ค้นหาคำตอบต่างๆ เธอพูดที่วิทยาลัย Gettysburg ไว้ว่า “เรามีฐานเศรษฐกิจที่หิวโหยอย่างไร้ความปราณี สิ่งที่เราต้องทำกันในตอนนี้นั้น ไม่ใช่ว่าเราจะฉกฉวยเอาอะไรกันเพิ่มอีก แต่มันคือว่าเราจะมอบอะไรกลับคืนให้โลกกันได้บ้าง”

“สุดยอดปรมาจารย์ ถ้อยคำของเธอคือการสรรเสริญความรักสู่โลก” ELIZABETH GILBERT

ถ้าหากมีหนังสือสักเล่มหนึ่งที่มุ่งอธิบายความเชื่อมโยงกัน ระหว่างพืชพรรณสัตว์ป่า และสัตว์มนุษย์ได้อย่างเติมเต็มมากสุด ตามกฎแห่งธรรมชาติที่ว่า ทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ต่างก็ดำรงอยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยมาโดยตลอดหน้าประวัติศาสตร์ แต่จะเกิดอะไรขึ้นบ้างล่ะ ถ้าความสัมพันธ์เช่นนี้แตกร้าวไปจนหมดสิ้นแล้ว เฉกเช่นเดียวกับที่เราทุกคนต่างก็เผชิญมันอยู่ นั่นก็คือ ความโกลาหลวุ่นวาย ความล่องลอยโหยหา และไร้ที่พึ่งทางจิตวิญญาณอย่างไม่จบสิ้น คณะผู้แปลขอนำเสนอเล่มนี้ซึ่งโดดเด่นสุด ทรงคุณค่าต่อการอ่านมากสุด และหากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมโลกขึ้นอยู่บ้าง หนังสือเล่มนี้จะช่วยนำทางพวกเราทั้งหลายได้กลับไปเชื่อมโยงกับ “จุดเริ่มต้น ไขปมปัญหาของมนุษย์ยุคใหม่ และจุดเปลี่ยนที่จะชี้ทางให้ผู้คนได้เริ่มต้น เรียนรู้ รับฟัง และนำไปฝึกปฏิบัติ ในแบบฉบับของตนเองได้อย่างน่าหลงใหลมากสุดอีกด้วย”

ความนิยมของหนังสือเล่มนี้ในเมืองไทย:

พบว่ามีแนวโน้มสูงที่จะได้รับความนิยม จากกลุ่มผู้อ่านที่กำลังอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และอยากจะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้มากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่เพื่อตอบรับกับกระแส การอนุรักษ์ระบบนิเวศท้องถิ่นในแบบฉบับของชนพื้นเมือง การดำรงอยู่ในสังคมที่ยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต การกลับคืนไปเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณกับผืนแผ่นดินที่หล่อเลี้ยงผู้คนมาโดยตลอด และที่ขาดไม่ได้ก็เพื่อตอบรับกระแสการทำธรุกิจยั่งยืน ให้ใกล้เคียงกับความจริงยิ่งขึ้นด้วยวิถีทางของชนพื้นเมือง รวมถึงบทบาทใหม่ของพวกเราและบรรดานักธุรกิจที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของตนได้มากขึ้นโดยแท้ เหมือนกับที่ทางนิตยสาร Forbes Thailand ได้ลงบทความเอาไว้ว่า หนังสือ Braiding Sweetgrass เป็นหนังสือทรงคุณค่าอย่างยิ่งที่ “บรรดานักธรุกิจทั้งหลายควรจะอ่านก่อนเข้านอน” ซึ่งมีเจ้าของร่วม และซีอีโอร่วม จากบริษัท THE CLIF BAR & COMPANY STORY ท่านหนึ่งชื่อว่า  Kit Crawford กล่าวบอกสื่อเอาไว้ว่า บทโดนใจมากสุดสำหรับเธอก็คือ  “A Mother’s Work” ซึ่งบอกเล่าถึงบทบาทของคุณแม่ยุคใหม่ได้อย่างสะดุดใจ และอยากชวนให้เข้าอ่านไปด้วยกัน!

 “Robin Wall Kimmerer เป็นนักวิจัยชั้นนำในสาขาชีววิทยา ได้เข้าใจถึงความละเอียดอ่อนอันซับซ้อนบนโลกของพวกเรา แต่ด้วยความที่เป็นสมาชิกของชาว Potawatomi อยู่นั้น เธอได้มีจิตสัมผัสและความเชื่อมโยงกันกับโลก ผ่านหนทางการหยั่งรู้ที่เก่าแก่ดั้งเดิมมากไปกว่าวิทยาศาสตร์แขนงใดจะเข้าถึง ในหนังสือ Braiding Sweetgrass เธอร้อยเรียงวิถีการตระหนักรับรู้ทั้งสองสิ่งนี้ โดยการเขียนเชิงวิเคราะห์และเชิงพรรณนา ทั้งตามหลักการวิทศาศาสตร์และทางวัฒนธรรม เพื่อจะเปิดเผยถึงแนวทางที่จะมุ่งเยียวยาสานสัมพันธ์อันเป็นมิตรของมนุษย์ และธรรมชาติให้กลับคืนมาบรรจบกันอีกครั้งในที่สุด การถักทอบทเขียนความเรียงที่ผูกเชื่อมเข้ากันไว้ในหนังสือเล่มนี้ จะนำพามนุษย์ให้หวนคืนกลับไปสู่การเชื่อมโยงถึงเหล่าพืชพรรณทั้งหมดที่ว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนอุดุมสมบูรณ์ และงอกงามเติบโต  บนโลกแห่งจักวาลที่ไม่เคยหยุดสื่อสารส่งเสียงถึงเรา แม้แต่กับตอนที่พวกเราได้หลงลืมไปแล้วว่าจะสดับรับฟังมันอย่างไร” เรียบเรียงบทเขียนโดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ

นอกจากความรู้ดั้งเดิมทางนิเวศวิทยาของชนพื้นเมืองอเมริกันจะมีอีกเพียบจากทั้งเล่มแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังอัดแน่นไปด้วยเรื่องเล่าชวนคิดทางวิทยาศาตสร์อีกมากมาย ซึ่งผู้เขียนได้ผูกเชื่อมผ่านคำสอนดั้งเดิมทางนิเวศวิทยา ภูมิปัญญา และวิถีปฏิบัติตนต่อโลกธรรมชาติของชนพื้นเมืองอเมริกันให้ผู้อ่านทั่วโลกได้ตั้งคำถามกับตัวเองและสังคมโลกมากยิ่งขึ้น

คณะผู้แปล ขอจบบทรีวิวไว้เพียงเท่านี้ก่อน ยังมีแนวคิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ให้พวกเราเสาะหากันอีกเยอะมากจากเล่มนี้! หากผู้อ่านมองเห็นถึงคุณค่าและความหมายของหนังสือเล่มนี้ “โปรดช่วยกันแนะนำให้กับสำนักพิมพ์ไทยได้รับพิจารณาเพื่อจัดตีพิมพ์สู่สังคมไทยอีกเล่มหนึ่ง ที่ห้ามพลาดกันเลยเชียว” คณะผู้แปลขอขอบคุณทุกท่านที่เข้าอ่านบทรีวิวเป็นอย่างยิ่ง ขอให้คติคำสอนบางประการที่กล่าวไว้โดยผู้เขียน ได้เปิดจิตสัมผัสบางอย่างของคุณให้ลึกซึ้งมากขึ้น อยากอ่านกันทั้งเล่มแล้วไหมเอ่ย? ^.^

-นำเสนอบทรีวิว โดย อนุธิดา มูลนาม พร้อมคณะ

แหล่งอ้างอิงบทเขียนรีวิว:

ชวนติดตามความน่าจะอ่านของหนังสือได้ที่นี่:
‘Braiding Sweetgrass’ has gone from surprise hit to juggernaut bestseller!

A New York Times BestsellerBraiding SweetgrassIndigenous WisdomNamed a “Best Essay Collection of the Decade” by Literary HubNATIONAL BESTSELLERRobin Wall KimmererScientific Knowledge and The Teachings of Plantsการกลับคืนสู่ผืนดินถิ่นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาคำสอนดั้งเดิมทางนิเวศวิทยา