การเติบโตผ่านหนัง 3 เรื่องของ ‘วรรจธนภูมิ & นันทวัฒน์’ ก่อนจะมาเป็น School Town King

การเติบโตผ่านหนัง 3 เรื่องของ ‘วรรจธนภูมิ & นันทวัฒน์’ ก่อนจะมาเป็น School Town King

ชื่อเสียงของ ‘Eyedropper Fill’ ในแวดวงคนทำสื่อมัลติมีเดียแบบผสมผสานของไทย ไม่นับว่าเป็น ‘หน้าใหม่’ เพราะพวกเขามีผลงานพิสูจน์ความสามารถมาแล้วหลากหลาย โดยเฉพาะในแวดวงโฆษณาและมิวสิกวิดีโอ รวมถึงศิลปะการจัดวางต่างๆ (installation art) แต่บทบาทผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘School Town King’ ที่คว้ารางวัลสุพรรณหงส์ สาขาสารคดียอดเยี่ยม เมื่อปี 2563 และการที่ผลงานเรื่องนี้กำลังจะฉายในเน็ตฟลิกซ์ ทำให้ ‘เบสท์’-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และ ‘นัท’-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล ถูกพูดถึงในวงกว้างขึ้น ในฐานะผู้สร้างงานกระตุกความคิดคนในสังคมให้ตั้งคำถามกับระบบที่เหลื่อมล้ำและการศึกษาแบบไทยๆ ที่เป็นตัวแช่แข็งความฝันของเด็กๆ หลายคน เพียงเพราะเขาฝันถึงหนทางที่แตกต่างจากกรอบที่ขวางกั้นไว้ ทั้งสองคนยอมรับว่าการทำหนังสารคดีมีทั้งเรื่อง ‘ง่าย’ และ ‘ยาก’ โดยเฉพาะการถ่ายทอดความเป็นจริงเกี่ยวกับชีวิตของผู้คนอย่างตรงไปตรงมา และกว่า School Town King จะกลายเป็นรูปเป็นร่าง พวกเขาเคยผ่านการทดลองมาแล้วในหนังสารคดี 3 เรื่อง ระหว่างปี 2557-2562 “ทำไมต้อง documentary? สารคดีมันคือเครื่องมือหนึ่งที่มันเอาไปทำความเข้าใจมนุษย์นะครับ เรามองว่ามนุษย์คือแกนหลักของงานเรา แล้วสารคดีมันเหมือนเป็นกระบวนการทำงานที่พาเราไปเข้าใจมนุษย์ที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้เข้าใจ” “สำหรับคนที่มองว่า เฮ้ย อายดร็อปฯ อาจจะทำแค่วิชวลล้ำๆ […]

ชื่อเสียงของ ‘Eyedropper Fill’ ในแวดวงคนทำสื่อมัลติมีเดียแบบผสมผสานของไทย ไม่นับว่าเป็นหน้าใหม่เพราะพวกเขามีผลงานพิสูจน์ความสามารถมาแล้วหลากหลาย โดยเฉพาะในแวดวงโฆษณาและมิวสิกวิดีโอ รวมถึงศิลปะการจัดวางต่างๆ (installation art)

แต่บทบาทผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘School Town King’ ที่คว้ารางวัลสุพรรณหงส์ สาขาสารคดียอดเยี่ยม เมื่อปี 2563 และการที่ผลงานเรื่องนี้กำลังจะฉายในเน็ตฟลิกซ์ ทำให้เบสท์’-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และนัท’-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล ถูกพูดถึงในวงกว้างขึ้น ในฐานะผู้สร้างงานกระตุกความคิดคนในสังคมให้ตั้งคำถามกับระบบที่เหลื่อมล้ำและการศึกษาแบบไทยๆ ที่เป็นตัวแช่แข็งความฝันของเด็กๆ หลายคน เพียงเพราะเขาฝันถึงหนทางที่แตกต่างจากกรอบที่ขวางกั้นไว้

ทั้งสองคนยอมรับว่าการทำหนังสารคดีมีทั้งเรื่องง่ายและยากโดยเฉพาะการถ่ายทอดความเป็นจริงเกี่ยวกับชีวิตของผู้คนอย่างตรงไปตรงมา และกว่า School Town King จะกลายเป็นรูปเป็นร่าง พวกเขาเคยผ่านการทดลองมาแล้วในหนังสารคดี 3 เรื่อง ระหว่างปี 2557-2562

ทำไมต้อง documentary? สารคดีมันคือเครื่องมือหนึ่งที่มันเอาไปทำความเข้าใจมนุษย์นะครับ เรามองว่ามนุษย์คือแกนหลักของงานเรา แล้วสารคดีมันเหมือนเป็นกระบวนการทำงานที่พาเราไปเข้าใจมนุษย์ที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้เข้าใจ

สำหรับคนที่มองว่า เฮ้ย อายดร็อปฯ อาจจะทำแค่วิชวลล้ำๆ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราสนใจคือเรื่องคน คนในสังคม แต่ว่าคนอาจจะไม่ค่อยเห็นอายดร็อปฯ ในมุมนั้น เพราะเห็นเราทำงานคอมเมอร์เชียลเยอะ แต่หนังสามเรื่องนี้จะทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราสนใจจริงๆ มันคืออะไร

วรรจธนภูมิ ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์และครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์ พูดถึงสารคดียุคแรกของ Eyedropper Fill อันประกอบด้วยยามเมื่อแสงดับลา’ (2557) ‘Dreamscape’ (2558) และ ‘My Echo, My Shadow, and Me’ (2562) ซึ่งต่อยอดจากโปรเจกต์ศิลปะที่ชื่อ Connext Klongtoey ที่เขาร่วมทำกับเด็กๆ ในสลัมคลองเตย และเป็นเหมือนบทแรกของ School Town King อีกด้วย

ยามเมื่อแสงดับลา – Lucid Reminiscence

ประเทศเรามันเป็นประเทศแห่งการทำลายล้างความทรงจำ เราก็เลยคิดว่า ในแง่หนึ่งเท่าที่เราทำได้ เราก็พยายามจะอนุรักษ์ด้วยการบันทึก เก็บความทรงจำของเรื่องเล่า

นันทวัฒน์บอกกล่าวถึงโปรเจกต์ยามเมื่อแสงดับลา’ (Lucid Reminiscence) สารคดีที่ร่วมงานกับหอภาพยนตร์ ซึ่งตามไปเก็บบันทึกภาพและความคิดเห็นของผู้คนที่มีต่อโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนที่ทยอยล้มหายตายจากเพราะการรุกคืบของโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ที่มีทุนหนากว่า

ขณะที่วรรจธนภูมิเสริมว่าประสบการณ์ในการดูภาพยนตร์ที่โรงสแตนด์อโลนเป็นเอกลักษณ์ที่เฉพาะทาง (unique) และสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนการพูดคุยถึงสารที่ต้องการสื่อในภาพยนตร์และการใช้พื้นที่สาธารณะโดยมีเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน

หอภาพยนตร์เขาอยากทำเรื่องประสบการณ์ในการดูในโรงหนัง เราเองโตมากับพ่อที่ชอบไปดูหนัง แล้วเราก็จำได้ว่ามันมีกลิ่น มีบรรยากาศยังไง ซึ่งเราว่าประสบการณ์ในการดูภาพยนตร์ในโรงมันเป็นอะไรที่ unique นะ ยิ่งกับคนในยุคหนึ่งมันพิเศษมาก เช่น คุณต้องแต่งตัวดีๆ ไปโรงหนัง มันเป็นพิธีกรรมแบบหนึ่งน่ะ การไปนั่งดูอะไรบางอย่างร่วมกัน มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างหายากในยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ นันทวัฒน์ยังเปรียบเทียบเพิ่มเติมกรณีที่โรงภาพยนตร์สกาลาถูกทุบทิ้งในเดือนพฤศจิกายน ยิ่งทำให้เห็นว่าถ้าไม่มีภาพยนตร์บันทึกเรื่องราวโรงหนังสแตนด์อโลนเหล่านี้เอาไว้ตั้งแต่แรก ในอนาคตอาจไม่มีใครนึกภาพพวกนี้ออก 

ตอนนั้นที่ทำ จริงๆ ก็เหลืออยู่ไม่กี่โรง มันน้อยมาก เหมือนมันกำลังจะริบหรี่ไปแล้วภาพยนตร์นี้มันก็เหมือนเป็นการที่เบสท์เขามองเห็นภาพนั้นขึ้นมา (visualize) มันก็เลยออกมาเป็นยามเมื่อแสงดับลา แทนที่จะพูดถึงเรื่องภาพยนตร์ ก็มาพูดถึงเรื่องโรงภาพยนตร์บ้าง พูดถึงประสบการณ์ตอนนั้นว่าถ้ามันกำลังจะหายไป มันจะเป็นยังไง

เราว่าสำหรับคนที่ไม่เคยเข้าโรงแบบนั้นเหมือนเรา มันก็มีอีกเยอะนะ ก็เลยพยายามทำหนังเรื่องนี้ให้คนที่ไม่เคยเข้า เขาไม่ได้แค่รู้ว่าบรรยากาศโรงเป็นยังไง แต่เขารู้สึกไปด้วย สมมติว่าคนได้ดูหนังมันจะรู้สึกเหมือนเราได้ไปอยู่ในนั้นจริงๆ แต่ความน่าสนใจคือ ภาพที่คุณเห็นน่ะ มันเป็นซากไปแล้ว

Dreamscape

อีกผลงานหนึ่งที่พูดถึงความฝันของผู้คนคือ Dreamscape ซึ่งวรรจธนภูมิและนันทวัฒน์ใช้หลักของการออกแบบการสื่อสารที่พวกเขาถนัดมาเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความหวังและความฝันของผู้คน เรียกได้ว่าเป็นเรื่องนามธรรม จับต้องได้ยาก พวกเขาจึงคิดจะใช้วิธีการอื่นๆที่ไม่ใช่แค่การนำกล้องไปตั้งและสัมภาษณ์แบบถามตอบ เพื่อจะทำความเข้าใจสิ่งที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ของคนที่พูดคุยด้วย

ส่วนประเด็นที่จุดประกายให้เกิดเป็น Dreamscape สืบเนื่องจากรัฐประหาร 2557 ซึ่งมีนักศึกษาต่อต้านรัฐประหารโดนจับกุมจำนวนมาก ท่ามกลางการโหมกระหน่ำเปิดเพลงคืนความสุขทำให้วรรจธนภูมิตั้งคำถามว่านั่นเป็นความสุขของใครกันแน่เขาจึงอยากไปรับฟังสิ่งที่อยู่ในใจของผู้คนจริงๆ

เราเชื่ออย่างนี้ว่า คนเวลามันทุกข์น่ะ มันอยากจะพูดอะไรบางอย่างกับใครบางคนเสมอ แค่เราพร้อมที่จะฟังเขาจริงๆ หรือเปล่า ยิ่งตอนนั้นปี 2558 คนมันก็ทุกข์มากแล้ว เราแค่ไปถามว่าพี่เป็นยังไง ขายดีหรือเปล่า โอ้โห มาเป็นชุดเลย…”

เราเติบโตมากับวัฒนธรรมของการไม่ถูกรับฟัง โรงเรียนพยายามจะบอกว่าเป็นอย่างนี้ พ่อแม่บอกอย่างนี้ สังคมบอกอย่างนี้ เราไม่เคยได้เลือกเองเลย ก็เลยรู้สึกว่าเราอยากทำโปรเจกต์นึงที่ลองไปฟังคนดูไหมว่าเขาคิดอะไรอยู่ เพื่อที่จะเอาเทียบเคียงให้เห็นว่า คืนความสุขที่เขาบอกน่ะ มันตรงกับชีวิตจริงๆ ที่เขาเป็นหรือเปล่าเนี่ย เปิดโลกเลย

พวกเขายังบอกเล่าถึงการให้ผู้คนที่สัมภาษณ์พูดถึงฮีโร่ในความนึกคิดว่าควรเป็นใครผ่านภาพวาดทำให้การถ่ายทอดจินตนาการหรือความรู้สึกลึกๆ ในใจเป็นไปอย่างง่ายดายขึ้น

เราคิดว่าศิลปะมันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เขาพูดได้มากขึ้น ก็เลยเอากระดาษใบหนึ่งมา แล้วก็เอาปากกากับสีไปให้เขาเลือก ให้ลองวาดตัวการ์ตูนเหล่านั้นดู พอเขาได้ลองวาดแล้วก็พูดไปด้วย ไอ้ความฝันความหวังบางอย่างที่มันซ่อนอยู่ในตัวเขาก็หลุดออกมา บางคนเขาอาจจะค่อนข้างเซอร์ไพรส์ในสิ่งที่ตัวเองพูด ซึ่งสิ่งนี้มันถูกกดเอาไว้ พอเราไปคุยไปถาม เอากระดาษไปยื่น บทสนทนามันช่วยให้ไอ้สิ่งนั้นที่ถูกกดไว้หลุดออกมา

ผู้คนที่พวกเขาพูดคุยด้วยไม่ใช่บุคคลโด่งดัง และจากกลุ่มคนกว่า 50 คน พวกเขาคัดเลือกความเห็นของคนไร้บ้าน, ผู้หญิงขายบริการ, ครู และนักเรียนมัธยมมาถ่ายทอดในฐานะตัวแทนความหลากหลายของคนแต่ละกลุ่มในสังคม แต่คนดูไม่เห็นใบหน้าของพวกเขาเลย เพราะจะได้รับฟังเฉพาะเสียงประกอบภาพวาดฮีโร่ของคนเหล่านั้นซึ่งถูกนำไปทำเป็นภาพเคลื่อนไหว

เราชอบพูดว่าดูภาพยนตร์เนอะ แต่จริงๆ เราฟังมันด้วยนะ อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าพอพูดคำว่าความฝัน เราไม่จำเป็นต้องเห็นภาพเขา แล้วให้สิ่งที่มันปรากฏขึ้นบนภาพยนตร์หรือบนจอมันเป็นแค่ภาพของความฝันเขา เราก็ใช้แอนิเมชัน (animation) เพราะที่เขาวาดมามันเป็นภาพนิ่ง แล้วการทำ animate รากศัพท์มันคือการทำให้มีชีวิตน่ะ เราทำให้ตัวความฝันนี้ที่เขาเล่ามันมีชีวิตขึ้นมา

เราเอาหนังเรื่องนี้ไปส่งมูลนิธิ Thai Short Film ในเทศกาลหนังประจำปี เราไม่ได้รางวัลของสารคดีเลย แต่เราได้ป็อปปูลาร์โหวต ซึ่งสะท้อนว่าหนังเรื่องนี้มันพูดแทนความรู้สึกของคนหลายคนอยู่ อันนั้นคือรางวัลแรก อันที่สองคือได้รางวัลของ Thai PBS วิธีการของสื่อที่มันสอดคล้องไปกับเนื้อหา เราก็จะพยายามทำสารคดีในแบบที่สลายภาพจำที่สารคดีต้องเป็นแบบน่าเบื่อ เรารู้สึกว่า Dreamscape เป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้เราเห็นว่าคนมันเอนจอยได้วรรจธนภูมิระบุ

My Echo, My Shadow, and Me

ผ่านมาจนถึงผลงานเรื่องที่สาม แต่ศิลปะยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่วรรจธนภูมิและนนทวัฒน์เลือกใช้ในการทำสารคดีของ Eyedropper Fill โดยที่ My Echo, My Shadow, and Me เป็นภาพยนตร์ที่ต่อยอดจากชั้นเรียนการถ่ายภาพของโครงการ Connext Klongtoey ซึ่งวิทยากรหลายคนในแวดวงที่เกี่ยวข้อง เข้าไปร่วมทำกับเด็กๆ ในชุมชนคลองเตย รวมถึงวรรจธนภูมิด้วย

“My Echo เป็นหนังที่ต่อยอดจากคลาสโฟโต้ ซึ่งมันก็เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงเด็กในคลาสแหละที่เอากล้องไปถ่ายชีวิตประจำวันตัวเอง แต่ละคนก็มีเรื่องส่วนตัวที่ไม่เหมือนกัน เราก็รู้สึกว่าความน่าสนใจของมันคือการที่เราได้เห็นว่าเขาเห็นอะไร เขาสนใจอะไร

หนังเรื่องนี้ เอาจริงๆ เราแทบไม่ได้เรียกด้วยซ้ำว่าเราเป็นผู้กำกับ เราเป็นคนทำหน้าที่สื่อกลางเฉยๆ ให้กิจกรรมมันเกิดขึ้น แล้วคนที่กำกับก็คือเขาเอง เพราะภาพก็เอาจากเขา เรื่องก็มาจากเขา เนี่ย เราอยากลองทำหนังที่เหมือนกับเราลองลดบทบาทของตัวเองให้ได้มากที่สุดเลย แล้วก็ฟังว่าเขามองอะไรอยู่วะ สิ่งที่เขามอง เขาคิดอะไรกับมัน ตัวหนังมันเลยออกมาแบบเพียวๆ น่ะ ไม่ได้มีการมองจากบุคคลภายนอก แล้วก็นี่แหละทำให้คนเห็นเลยว่า อ๋อ จริงๆ เขาคิดอย่างนี้

อย่างบอสก็เป็นเด็กที่เราเรียกว่าเป็นเด็กที่ตั้งใจที่สุดของคลาสน่ะ แล้วแบบอยู่ดีๆ เขาก็หายไปเลยปีที่แล้วเราเพิ่งไปเจอบอสว่าเขาเป็นยังไง โอ้โห ชีวิตมันหลุดไปเลย ไม่ได้เรียนอีกแล้ว เราไปถามเขาล่าสุด เขาบอกว่ายังอยากกลับมาเรียน ยังอยากเจอเพื่อน เขาคิดถึงเพื่อน แต่เขาออกไปไม่มีใครเลย คิดดู เด็กอายุ 16-17 น่ะ ไม่มีใครเลย อยู่ตัวคนเดียว

ทั้งสองคนบอกเล่าถึงชะตากรรมของเด็กคลองเตยจำนวนหนึ่งที่แม้จะอยากเรียนต่อ แต่ความจำเป็นในชีวิตบีบให้เขาต้องออกจากโรงเรียนไปหางานทำ เพราะต้องเลี้ยงชีวิตตัวเองในยุคเศรษฐกิจเป็นแบบปากกัดตีนถีบอย่างแท้จริง

ขณะที่บางคนเล่าให้ฟังถึงชีวิตที่ถูกคนภายนอกตัดสินและมองด้วยความไม่ไว้ใจ เนื่องจากสลัมคลองเตยถูกตีตรามานานแล้วว่าเป็นแหล่งรวมอาชญากรรม ทั้งที่คนในชุมชนแห่งนี้ไม่ได้ต่างจากที่อื่นๆ ของสังคมไทยซึ่งคละเคล้ากันไปทั้งคนที่มีปัญหาและไม่มีปัญหา แต่การถูกมองอย่างอคติทำให้โอกาสในชีวิตของพวกเขาเด็กคลองเตยหดแคบลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขอทุนหรืออนาคตการจ้างงานใดๆ

คนที่ได้ดู My Echo ก็น่าจะเข้าใจโลกของเด็กคลองเตย เราว่าไม่ใช่แค่เด็กคลองเตย มันคือเด็กชุมชนที่มันอยู่ในกรุงเทพฯ นี่แหละ ว่าเขาเจออะไรมาบ้าง ก็น่าจะช่วยทำให้คนเข้าใจได้มากขึ้น

จริงๆ สลัมไม่ได้มีแค่คลองเตย กรุงเทพฯ มีชุมชนเยอะมาก แล้วมันอยู่ข้างๆ ห้างใหญ่มากเราเล่าสิ่งนี้เพื่อสะท้อนให้กับที่อื่นๆ ทำให้เราเข้าใจซะทีว่าทำไมประเทศเราถึงได้คะแนนสูงสุดขนาดนี้เกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำมันไม่ได้เกิดขึ้นจากแค่สวัสดิการหรืออะไรพวกนี้อย่างเดียว มันเกิดจากทัศนคติ คือถ้าเรามองมันเท่ากันซะตั้งแต่แรก การจัดการมันก็จะเท่ากัน แต่ตอนนี้เราต้องกลับไปแก้ที่ทัศนคติเราก่อนนันทวัฒน์กล่าวย้ำถึงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการทำหนังเรื่องนี้

ความยาก-ง่ายในการทำสารคดี ไม่ได้อยู่ที่เทคนิค แต่เป็น ‘การรอคอย’

วรรจธนภูมิและนันทวัฒน์ไม่ได้เรียนจบสาขาภาพยนตร์มาโดยตรง แต่ทั้งสองคนหัดทำหนังจากความอยากทำและก็ลงมือทำจริงๆ ซึ่งบางอย่างพวกเขาก็มองว่าเป็นเรื่องง่าย เพราะอุปกรณ์ถ่ายภาพในยุคนี้มีมากมายหลากหลายคุณภาพ ส่วนการเลือกถ่ายสารคดีเพราะคิดว่าเริ่มต้นได้ง่าย หยิบกล้องไปถ่ายสิ่งที่สนใจได้เลย แต่ความยากอยู่ที่การอดทนรอ

สารคดีนี่มันเป็น format ภาพยนตร์ที่เริ่มต้นง่ายสำหรับเรานะ คือหยิบกล้อง เดี๋ยวนี้อุปกรณ์มันง่ายมาก มือถือก็ชัดมาก มันก็สามารถออกไปถ่ายในสิ่งที่เราสนใจได้เลย แต่ความยากในที่นี้อาจจะเป็นเรื่องของความอดทนที่จะรอบางอย่างมันเสร็จ เรื่องบางเรื่องถึงจะเป็นหนังสั้นก็ตาม เราก็ใช้เวลาจำนวนชั่วโมงอยู่กับคอนเทนต์หรือการคุยกับคนนาน

ความยากอีกอันหนึ่งก็คือเราไม่รู้ว่ามันจะจบเมื่อไหร่

เราก็ไม่รู้หรอกว่าเราทำหนังไปแล้วชีวิตของคนจะเป็นยังไงต่อ หมายถึงคนที่เป็น subject นะ

อย่างไรก็ตาม การเดินทางของวรรจธนภูมิและนันทวัฒน์บนเส้นทางสารคดียังไม่จบง่ายๆ ทั้งยังทอดยาวมาถึง School Town King ที่พวกเขาตั้งเป้าไว้ว่าอยากจะให้เรื่องราวเหล่านี้เข้าถึงผู้คนให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ และประสบการณ์ช่วงถ่ายทำผลงาน 3 เรื่องก่อนหน้านี้ก็เป็นกระบวนการทำความเข้าใจที่พวกเขาจะทำต่อไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน

เราอยากทำสารคดีแหละ แต่ยังไม่รีบทำ เราขอไปสำรวจ ทำความเข้าใจก่อน มันเหมือน Connext Klongtoey เป็นกระบวนการช่วงศึกษาวิจัยของเราที่ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้นว่าแต่ละคนเจออะไรอยู่ ธีมมันก็อาจจะคล้ายชื่อเรื่อง School Town King เด็กสองคนที่โตมาในระบบที่กดทับ ความเป็นอยู่ ความเหลื่อมล้ำ แทนที่ระบบการศึกษาจะพาเขาไป มันกลายเป็นว่ายิ่งกดเขาลงไปอีก ทำให้เขารู้สึกไม่เก่ง ทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่เขาถนัด มันไม่ใช่พรสวรรค์

เขาเป็น King (ราชา) แต่สิ่งที่มันกดทับคือ School (โรงเรียน) และ Town (เมือง) ซึ่ง School และ Town ก็เป็นสถาบันที่สะท้อนให้เห็นถึงประเทศเราเหมือนกันนะว่าระบบแบบไหน มันไม่ได้อุ้มชูให้เด็กสองคนที่อาจจะมีความเก่งไม่ตามขนบมันได้เกิด เราก็เลยรู้สึกว่า เออ โอเค ในฐานะที่กูทำหนัง คงต้องเล่าเรื่องนี้ให้ไกลที่สุด อย่างน้อยก็ทำให้คนเข้าใจก่อนว่ามันไม่ได้เป็นที่ตัวเขา มันเป็นที่สิ่งแวดล้อมและระบบสังคมที่ทำให้คนมันฝันไม่ได้น่ะ

เตรียมตัวรับชมสารคดีทั้ง 3 เรื่องของ Eyedropper Fil   ได้เร็วๆนี้ทาง

Facebook: BrandThink Cinema
Vimeo: https://vimeo.com/brandthinkcinema
YouTube: https://bit.ly/30cnV8t

BrandThink CinemaEyedropper Fill