
Concentrated Liquidity! ทางเลือกใหม่ของการลงทุนในโลกคริปโต
ในโลกของตลาดคริปโต เต็มไปด้วยทางเลือกในการลงทุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเทรดเหรียญเพื่อเก็งกำไร การวางสภาพคล่อง การ stake เหรียญ ซึ่งทำให้นักลงทุนได้มีทางเลือกมากมายที่จะนำเงินของตนเข้าสู่ตลาดนี้ และวิธีการต่างๆเหล่านี้ นับวันยิ่งพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นแนวทางใหม่ให้เหล่านักลงทุนทั้งหน้าเก่า และหน้าใหม่ที่จะเข้ามา ทำให้ผู้คนสามารถเลือกได้ว่าการลงทุนแบบไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง และไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดการลงทุนแบบใหม่ โดยใช้วิธีการวางสภาพคล่อง แต่เป็นการวางสภาพคล่องแบบที่สามารถเลือกช่วงได้แทน นั่นคือ “Concentrated Liquidity Pool” เราจะมาดูกันว่ามันคืออะไร? Liquidity Pool คืออะไร? เป็นกองสินทรัพย์ดิจิทัลที่เจ้าของเหรียญต่างๆนำเหรียญที่ตนมีมาช่วยวางสภาพคล่องให้กับคู่เหรียญนั้น ในแพลตฟอร์มที่เป็นแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินแบบไร้ตัวกลาง (Decentralized Exchange: DEX) เพื่อรอให้คนมาแลกเปลี่ยน (swap) เหรียญกัน หรือกู้ยืมเหรียญเหล่านั้น โดยคนที่มาช่วยวางสภาพคล่อง จะได้รับค่าธรรมเนียมตามสัดส่วนที่กำหนด ซึ่งจะใช้งานระบบ Automated Market Maker (AMM) หลักการทำงานของ Liquidity Pool เป็นยังไง? หลักการทำงาน คือ ผู้ขายหรือผู้ที่มีเหรียญคริปโตจะใส่เหรียญลงไปใน Pool เพื่อสร้างสภาพคล่อง แล้วปล่อยให้ DEX จับคู่เหรียญให้กับผู้ซื้อ โดยผู้ขายจะได้รับโทเค็นที่เรียกว่า Liquidity Provider […]
ในโลกของตลาดคริปโต เต็มไปด้วยทางเลือกในการลงทุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเทรดเหรียญเพื่อเก็งกำไร การวางสภาพคล่อง การ stake เหรียญ ซึ่งทำให้นักลงทุนได้มีทางเลือกมากมายที่จะนำเงินของตนเข้าสู่ตลาดนี้ และวิธีการต่างๆเหล่านี้ นับวันยิ่งพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นแนวทางใหม่ให้เหล่านักลงทุนทั้งหน้าเก่า และหน้าใหม่ที่จะเข้ามา ทำให้ผู้คนสามารถเลือกได้ว่าการลงทุนแบบไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง และไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดการลงทุนแบบใหม่ โดยใช้วิธีการวางสภาพคล่อง แต่เป็นการวางสภาพคล่องแบบที่สามารถเลือกช่วงได้แทน นั่นคือ “Concentrated Liquidity Pool” เราจะมาดูกันว่ามันคืออะไร?
Liquidity Pool คืออะไร?
เป็นกองสินทรัพย์ดิจิทัลที่เจ้าของเหรียญต่างๆนำเหรียญที่ตนมีมาช่วยวางสภาพคล่องให้กับคู่เหรียญนั้น ในแพลตฟอร์มที่เป็นแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินแบบไร้ตัวกลาง (Decentralized Exchange: DEX) เพื่อรอให้คนมาแลกเปลี่ยน (swap) เหรียญกัน หรือกู้ยืมเหรียญเหล่านั้น โดยคนที่มาช่วยวางสภาพคล่อง จะได้รับค่าธรรมเนียมตามสัดส่วนที่กำหนด ซึ่งจะใช้งานระบบ Automated Market Maker (AMM)
หลักการทำงานของ Liquidity Pool เป็นยังไง?
หลักการทำงาน คือ ผู้ขายหรือผู้ที่มีเหรียญคริปโตจะใส่เหรียญลงไปใน Pool เพื่อสร้างสภาพคล่อง แล้วปล่อยให้ DEX จับคู่เหรียญให้กับผู้ซื้อ โดยผู้ขายจะได้รับโทเค็นที่เรียกว่า Liquidity Provider (LP) มาเป็นตัวแทนการขาย และเมื่อคืน LP กลับเข้า Pool ผู้ขายจะได้เหรียญเดิมกลับมาพร้อมกับค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของ DEX เจ้าของ Pool
ข้อดีและข้อเสียของ Liquidity Pool
• ข้อดี : เป็นประสบการณ์ที่นักลงทุนสามารถนำเหรียญคริปโตที่ตนถือครองอยู่มาวางสภาพคล่องในสถาบันการเงิน (Exchange) ในโลกคริปโตนั้นๆ เพื่อรับผลตอบแทนแบบ passive income เป็นค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมและ Reward ตามข้อกำหนดของแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินแบบไร้ตัวกลาง (DEX) ที่นำไปวางสภาพคล่องไว้
• ข้อเสีย : จะอยู่ในระบบที่ใช้ดำเนินการของ Pool นั่นคือ Smart Contract อาจเกิดข้อผิดพลาดจากการเขียนโค้ด (Bud) ได้ และยังเสี่ยงโดนแฮกหรือโดนโจมตีบล็อกเชนได้ หากเจ้าของ Smart Contract ทำกุญแจหลุดไปถึงผู้ไม่ประสงค์ดี รวมถึงในกรณีที่ตลาดเกิดการผันผวน อาจทำให้ช่วงราคาห่างจากกันมาก จนทำให้ผลตอบแทนที่ได้น้อยกว่า Impermanent loss ที่เสียไป
ในปัจจุบันนี้ การวางสภาพคล่องได้ถูกพัฒนาขึ้นจนมีระบบใหม่ขึ้นมา เรียกว่าระบบ “Concentrated Liquidity Pool” ซึ่งจากก่อนหน้านี้เวลาเรา provide liquidity ถ้าราคาเหรียญคู่ pair ผันผวนมาก ยิ่งทำให้เปอร์เซ็นต์ของ impermanent loss สูงตามไปด้วย มาดูกันว่าระบบ Concentrated นี้คืออะไร? และมีหลักการทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิมยังไง?
Concentrated Liquidity Pool คืออะไร?
Concentrated Liquidity Pool เป็นการวางสภาพคล่องที่สามารถจะกำหนดให้อยู่ใน Range ที่เราต้องการได้ ช่วยให้ผู้ที่นำเหรียญมาวางสภาพคล่องสามารถกำหนดความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนมากเกินไปและได้รับค่าธรรมเนียมสูงขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ใช้งานก็จะได้รับอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีมากยิ่งขึ้นจาก Deep liquidity
หลักการทำงานของ Concentrated Liquidity เป็นยังไง?
ถ้าพูดง่ายๆก็คือ Concentrated Liquidity มีหลักการคือ เราสามารถกำหนดช่วงราคา (Price range) ที่เราจะเอาไปวาง provide liquidity ได้ ผู้ใช้สามารถสร้างช่วงราคาที่พวกเขายินดีที่จะขายสินทรัพย์ของตนได้ ซึ่งต่างจากระบบเดิมที่ไม่สามารถเลือกได้และกระจายไปทุกช่วงราคา ซึ่งมี Multiple fee tiers ที่ช่วยให้ผู้ให้บริการสภาพคล่อง ได้รับผลตอบแทนที่แตกต่างกันสำหรับการเลือกความเสี่ยงในแบบต่างๆ
ตัวอย่างเช่น กำหนดช่วงราคาตั้งแต่ 10% ถึง -10% ตำแหน่ง pool จะสร้างผลกำไร (จากค่าธรรมเนียม) ถ้าความแตกต่างของมูลค่าระหว่างสินทรัพย์ทั้งสองไม่เกิน 10% หรือถ้ากำหนดช่วงราคาให้เล็กลง เป็นตั้งแต่ 5% ถึง -5% ก็จะได้รับส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมที่มากขึ้นภายในช่วงราคา แต่โอกาสที่ตำแหน่งจะหลุดจากช่วงนี้จะสูงขึ้นมาก ซึ่งทำให้เกิด impermanent loss นั่นเอง
ถ้าราคาขยับเกินขอบเขตของช่วงราคาที่ตั้งไว้ pool ผู้ใช้จะมีเฉพาะโทเค็นที่มีมูลค่าน้อยกว่า และไม่ได้ค่าธรรมเนียมอีกต่อไป โดยที่ pool และค่าธรรมเนียมจะกลับไปปกติเมื่อราคากลับเข้าสู่ช่วงราคาที่กำหนดอีกครั้ง “ยิ่งช่วงแคบลงเท่าไหร่ เปอร์เซ็นต์ของค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้ผู้ใช้ก็จะยิ่งสูงขึ้น”
การกำหนด Range แบบนี้มันจะทำให้มีสภาพคล่องในราคาที่ต้องการได้มากขึ้น และทำให้สภาพคล่องที่เราเอาไปวางมันได้ใช้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าการไปวางแบบครึ่งครึ่ง เพราะการไปวางแบบ AMM คือมูลค่าของทั้ง 2 เหรียญสามารถผันผวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้เต็มที่เลย ตั้งแต่ราคาที่ 0 ถึงราคา อินฟินิตี้ ไม่ว่าราคาจะไปที่เท่าไหร่ คนก็มาเทรดหรือ Swap กันได้ liquidity ของเราที่เราเอาไปวางแบบ AMM แบบปกติมันก็จะถูกขายฝั่งนึง และRebalance ให้เท่ากันเสมอ ทำให้สภาพคล่องของเรามันถูกใช้งานได้ไม่เต็มที่ แต่แบบ Concentrated นั้น เราสามารถปรับค่า Min และ Max ว่าให้มันอยู่ใน Range ไหน ทางUniswap ก็จะมีบอกว่าช่วงราคาไหนที่มีคนแลกเปลี่ยนหรือเทรดกันเยอะ เราก็อาจจะไปวางแค่ Range นั้นก็ได้ ทำให้สภาพคล่องของเราถูกใช้งานได้เต็มที่ และจะได้ผลตอบแทนที่เยอะขึ้น ถ้าอยู่ในช่วงเราก็จะได้ผลตอบแทนเยอะ แต่ถ้ามันหลุดช่วงนี้มาเราก็จะไม่ได้ค่า Fees นั่นคือเหมือนกับว่าเราเลือกช่วงของราคาได้นั่นเอง
การแลกเปลี่ยนที่มีช่วงที่แคบกว่า pool จะสามารถสร้างค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งจะมีความอ่อนไหวต่อ impermanent loss มากกว่า และในทางกลับกัน ด้วยช่วงที่กว้างกว่าจะสามารถลดโอกาสเกิด impermanent loss ได้ แต่แลกมากับค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า
ปัจจัยที่จะส่งผลต่อผลตอบแทนของผู้ใช้
• Concentration และช่วงของสภาพคล่องที่จัดไว้
• จำนวนค่าธรรมเนียมของ pool
• ปริมาณโวลลุ่มของ pool
• การเคลื่อนไหวของราคาของสินทรัพย์เปรียบเทียบกัน
ข้อเสียของการกำหนดช่วงราคาได้เอง
หากราคาตลาดเคลื่อนไหวนอกช่วงราคาที่ผู้ให้บริการสภาพคล่องกำหนดไว้ สภาพคล่องจะไม่ถูกนำมาคิดเลยและจะไม่ได้รับค่าธรรมเนียมใดๆ เมื่อเกิดการเทรด สภาพคล่องของผู้ให้บริการสภาพคล่องที่ประกอบด้วยสินทรัพย์ทั้งสองจะมีมูลค่าน้อยลง จนกว่าราคาตลาดจะกลับเข้าสู่ช่วงราคาที่กำหนด หรือจะตัดสินใจอัปเดตช่วงราคาของตนเองเพื่อคำนวณราคาปัจจุบัน
ตัวอย่างการเปรียบเทียบระหว่างการวาง Liquidity Pool แบบปกติ และ Concentrated Liquidity Pool
จากรูปที่ 1 : Alice วางเงินบน V2 1ล้านดอลลาร์ เป็น 500,000 DAI และ 333.33 ETH ส่วน Bob วางเงินบน V3 และวางด้วยเงินทุนแค่ 183,500 ดอลลาร์ เป็น 91,751 DAI และ 61.17 ETH (V3 วางแบบ Concentrated) วางที่ราคา 1,000-2,500 ดอลลาร์ ผ่านไป 1 ปี Alice จะได้ผลตอบแทนประมาณ 50% APR(ไม่ทบต้น) ใช้ประสิทธิภาพจากเงินทุนจาก 1ล้านดอลลาร์ไปแค่ 15.9% แต่ Bob ได้ค่า Fees ไป 314% APR และสภาพคล่องที่ Bob provide liquidity ไปมีการใช้งานสภาพคล่องทั้ง 100% ก็คือใช้งานเต็มที่ ซึ่งอันนี้ในกรณีที่ ETH คู่กับ DAI วิ่งอยู่ใน Range 1,000-2,250 จากตัวอย่างจะเห็นว่าเงินทุนน้อยแต่มีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่มีเงินล้านนึงเลย
จากรูปที่ 2 : ต่อมา ราคา ETH ลดลงไปเหลือ 0 ทำให้ Alice เสียหมดเลย แต่ Bob ยังมีเงินเหลืออยู่ 816,500 ดอลลาร์ นั่นคือไม่ต้องเอาเงินก้อนใหญ่ไป provide ทั้งหมด (วางแค่ 183,500 ดอลลาร์) และสามารถนำเงินที่เหลืออีก 8 แสนกว่าดอลลาร์ไปวางใน pool ที่เป็น stable coin ก็ได้
เพิ่มเติม : Uniswap ผู้ให้บริการ Concentrated Liquidity Pool
เรามารู้จักกับ Uniswap กันก่อน Uniswap เป็นหนึ่งใน Decentralized Exchange (DEX) ชั้นนำบน Ethereum ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดใน DeFi ความนิยมส่วนนึงมาจากความสามารถในการให้ผลตอบแทนในฐานะผู้ให้บริการสภาพคล่อง (LP) ที่ได้ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรม เนื่องจากผู้ใช้รายอื่นทำการแลกเปลี่ยนคริปโต แต่การใช้ Uniswap ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงเช่นกัน
ในตอนแรก Uniswap เป็นผู้นำจากการทำ AMM (การวางสภาพคล่องแบบเป็นพูลแบบแบ่งครึ่ง) ซึ่ง V2 มีความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของผู้ให้บริการสภาพคล่อง คือ Impermanent loss ที่เกิดขึ้นจากการที่ถือครองสินทรัพย์ในโทเค็นสองโทเค็นในแต่ละ pool ทำให้ Uniswap ได้ประกาศเปิดตัวอัปเกรดจาก V2 เป็น V3 และสนับสนุนให้ผู้ใช้ย้ายสภาพคล่องจากโปรโตคอลตัวเก่าไปยังโปรโตคอลที่ใหม่กว่า โดย V3 จะมาพร้อมกับโครงสร้างค่าธรรมเนียมรูปแบบใหม่
พอมี Uniswap V3 มันก็ได้เปลี่ยนวงการของ provide liquidity หรือการเพิ่มสภาพคล่องให้กับแพลตฟอร์ม ทำให้คนที่มา Swap เหรียญ หรือแลกเปลี่ยนเงินในแพลตฟอร์มสามารถที่จะแลกเงินได้แบบไม่มีปัญหา
Uniswap V3 มันจะปลดล็อกอะไรหลายๆอย่าง และยิ่งมาผสมผสานกับตัวที่เป็น Layer 2 จะทำให้คนที่มา provide liquidity ใช้เงินน้อยลง เงินที่ประหยัดได้สามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ หรือฝากใน DeFi อื่นๆ เพื่อรับผลตอบแทนมากขึ้น มันจะทำให้สภาพคล่องของคนที่มาฝากมีประสิทธิภาพมากขึ้น Uniswap V3 นี้จะเรียกว่า “Concentrated Liquidity” ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะทำให้ Liquidity provider มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม สูงสุดที่ 4000x และผู้ให้บริการสภาพคล่องสามารถเลือกที่จะเพิ่มความเสี่ยงหรือลดความเสี่ยงเองได้ รวมถึงสามารถขายสินทรัพย์ได้ โดยการเพิ่มสภาพคล่องให้กับช่วงราคาที่สูงหรือต่ำกว่าราคาตลาดโดยประมาณ และ Uniswap นี้ก็ได้มีลิขสิทธิ์ทำให้คู่แข่งไม่สามารถ Fork ไอเดีย Concentrated นี้ไปใช้ได้ใน 2 ปี
สรุปได้ว่า Liquidity Pool เป็นการวางสภาพคล่องที่นักลงทุนทำกันมามากมาย ซึ่งรับผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียม แต่หากราคาของเหรียญ 2 เหรียญผันผวนมากเกินไป ก็อาจเกิดการสูญเสียผลประโยชน์ (Impermanent loss) ที่ได้รับได้ และสำหรับ Concentrated Liquility Pool นับว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีความแตกต่างจากการวาง Liquility Pool ธรรมดาทั่วไป คือแบบ Concentrated นั้น สามารถกำหนดช่วงราคาที่ต้องการนำไปวางสภาพคล่องได้ทุกช่วงราคา เราสามารถปรับค่า Min และ Max ว่าให้มันอยู่ใน Range ไหน และทำให้สภาพคล่องของเราถูกใช้งานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแต่ละช่วงราคาก็จะมีระดับการจ่ายผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียมแล้วแต่ช่วงราคาที่นักลงทุนเลือก และสามารถเพิ่มโอกาสที่จะได้ผลตอบแทน(ค่าธรรมเนียม)ที่มากขึ้นได้
ดังนั้นถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนสามารถลงทุนกันโลกคริปโตนี้ได้ แต่หากเราเลือกช่วงไม่ถูก ก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียผลประโยชน์อยู่ดี เราไม่สามารถรู้ได้ว่าวิธีการไหนจะดีกว่า แต่หากเราศึกษามากพอและปรับเปลี่ยนวิธีตามความเหมาะสมของเรา วิธีการเหล่านี้ก็จะสร้างผลประโยชน์ให้เราได้อย่างมหาศาล
แหล่งอ้างอิง :
https://bitcoinaddict.org/2021/03/24/ew-details-about-uniswap/
https://bitcoinaddict.org/2021/07/14/the-risks-and-rewards-of-uniswap/
https://blockspaper.com/th/a/uniswap-v3-what-makes-it-interesting-th
แหล่งอ้างอิงรูปภาพ :
https://blog.uniswap.org/uniswap-v3
งานเขียนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิชา 751737 Economic of DeFi (Decentralized Finance) ซึ่งสอนโดย ผศ.ดร. ณพล หงสกุลวสุ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
งานชิ้นนี้ เขียนโดย น.ส.คันธารัตน์ ปัณฑโร 661632007