
เบื้องหลังตึกระฟ้าที่เป็นหน้าตาของนิวยอร์ก คือแรงงาน (เสี่ยงตาย) สร้างชาติ
หลายคนคงเคยเห็นภาพขาวดำ ‘มื้อกลางวันบนยอดตึกระฟ้า’ (Lunch atop a skyscraper) ที่เหมือนจะเป็นสัญลักษณ์มหานครนิวยอร์กอยู่กลายๆ และจนถึงวันนี้ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครกันแน่ที่เป็นคนกดชัตเตอร์ถ่ายภาพประวัติศาสตร์นี้เอาไว้ ภาพนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ New York Herald-Tribune เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1932 และคนที่เห็นภาพก็มีความรู้สึกแตกต่างกันไป บางคนรู้สึกหวาดเสียวแทนคนที่อยู่บนคานเหล็ก บางคนก็มองว่านี่คือภาพสะท้อนความเป็นอยู่ของแรงงานอเมริกันผู้อยู่เบื้องหลังมหานครใหญ่ และมีหลายคนยกให้เป็นภาพปรากฏการณ์แห่งยุคสมัยที่สหรัฐอเมริกาเริ่มพูดถึงการทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวให้ประสบความสำเร็จเแบบ ‘อเมริกันดรีม’ เพราะเป็นยุคที่รัฐบาลอัดฉีดเงินเพื่อสร้างงาน ทำให้ซีรีส์และหนังอเมริกันหลายเรื่องในยุคหลังๆ นำภาพนี้ไปทำซ้ำหรืออ้างอิง ทั้งด้วยความชื่นชม และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อจะเชื่อมโยงกับรากเหง้าความเป็นนิวยอร์กที่ก่อร่างสร้างขึ้นจากแรงงานหลากหลายเชื้อชาติ อีกประเด็นที่หลายคนสงสัยคือแรงงานก่อสร้างวัยฉกรรจ์ในภาพนี้ที่นั่งชิลๆ กินแซนด์วิช สูบบุหรี่ จิบกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์กันบนคานเหล็กเปลือยๆ เหนือยอดตึกสูงลิบของนิวยอร์กนี่เป็นการ ‘จัดฉาก’ หรือไม่ เพราะนอกจากคนในภาพจะยิ้มแย้มสบายใจแล้ว องค์ประกอบในการจัดวางภาพก็สวยงามเป๊ะๆ จึงมีคนตามไปสืบหาคำตอบจนได้ หลังจากภาพนี้เผยแพร่สู่สาธารณะมาได้นานกว่า 80 ปี จัดฉากจริง แต่คนก็เสี่ยงตายจริงๆ เหมือนกัน คนที่ยืนยันว่าภาพนี้คือ ‘การจัดฉาก’ คือ คริสติน รุสเซล (Christine Roussel) นักจดหมายเหตุของร็อกกีเฟลเลอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งเว็บไซต์ All that’s Interesting […]
หลายคนคงเคยเห็นภาพขาวดำ ‘มื้อกลางวันบนยอดตึกระฟ้า’ (Lunch atop a skyscraper) ที่เหมือนจะเป็นสัญลักษณ์มหานครนิวยอร์กอยู่กลายๆ และจนถึงวันนี้ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครกันแน่ที่เป็นคนกดชัตเตอร์ถ่ายภาพประวัติศาสตร์นี้เอาไว้
ภาพนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ New York Herald-Tribune เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1932 และคนที่เห็นภาพก็มีความรู้สึกแตกต่างกันไป บางคนรู้สึกหวาดเสียวแทนคนที่อยู่บนคานเหล็ก บางคนก็มองว่านี่คือภาพสะท้อนความเป็นอยู่ของแรงงานอเมริกันผู้อยู่เบื้องหลังมหานครใหญ่ และมีหลายคนยกให้เป็นภาพปรากฏการณ์แห่งยุคสมัยที่สหรัฐอเมริกาเริ่มพูดถึงการทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวให้ประสบความสำเร็จเแบบ ‘อเมริกันดรีม’ เพราะเป็นยุคที่รัฐบาลอัดฉีดเงินเพื่อสร้างงาน ทำให้ซีรีส์และหนังอเมริกันหลายเรื่องในยุคหลังๆ นำภาพนี้ไปทำซ้ำหรืออ้างอิง ทั้งด้วยความชื่นชม และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อจะเชื่อมโยงกับรากเหง้าความเป็นนิวยอร์กที่ก่อร่างสร้างขึ้นจากแรงงานหลากหลายเชื้อชาติ
อีกประเด็นที่หลายคนสงสัยคือแรงงานก่อสร้างวัยฉกรรจ์ในภาพนี้ที่นั่งชิลๆ กินแซนด์วิช สูบบุหรี่ จิบกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์กันบนคานเหล็กเปลือยๆ เหนือยอดตึกสูงลิบของนิวยอร์กนี่เป็นการ ‘จัดฉาก’ หรือไม่ เพราะนอกจากคนในภาพจะยิ้มแย้มสบายใจแล้ว องค์ประกอบในการจัดวางภาพก็สวยงามเป๊ะๆ จึงมีคนตามไปสืบหาคำตอบจนได้ หลังจากภาพนี้เผยแพร่สู่สาธารณะมาได้นานกว่า 80 ปี
จัดฉากจริง แต่คนก็เสี่ยงตายจริงๆ เหมือนกัน
คนที่ยืนยันว่าภาพนี้คือ ‘การจัดฉาก’ คือ คริสติน รุสเซล (Christine Roussel) นักจดหมายเหตุของร็อกกีเฟลเลอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งเว็บไซต์ All that’s Interesting รายงานว่าเธออ้างอิงเอกสารการจ้างงานที่
มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์เก็บไว้ พบว่าแรงงานกว่า 250,000 คนเข้าร่วมโครงการก่อสร้างตึกนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นคนอิตาลี ไอริช และชนพื้นเมืองอเมริกัน ขณะที่การก่อสร้างเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1930 จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในปี 1939
แรงงานเหล่านี้ยอมทำงานที่พวกเขารู้ดีว่า ‘สูง’ และ ‘เสี่ยง’ เพื่อแลกกับค่าแรงที่ ‘เปย์หนัก’ กว่างานอื่นๆ ในยุคนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่หลายประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือกำลังเจอกับเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) รวมถึงสหรัฐฯ เองด้วย เพราะหลังจากตลาดหลักทรัพย์รุ่งเรืองเฟื่องฟูกันได้ราวๆ ทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เกิดปัญหาสินค้าเกษตรราคาต่ำ เพราะหลังจากทหารที่ไปรบในสงครามกลับประเทศกันก็ไปเป็นแรงงานในฟาร์ม จนผลผลิตทางการเกษตรล้นเกินความต้องการ สวนทางกับอุตสาหกรรมที่ไม่ค่อยมีใครลงทุนเพิ่ม และตลาดหลักทรัพย์ผันผวนในภายหลังเพราะนักลงทุนไม่เชื่อมั่นสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากชาติอื่นๆ ในยุโรป
แฟรงคลิน ดี รูสต์เวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในยุคนั้น ก็เลยต้องประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่เรียกกันว่านโยบายนิวดีล (New Deal) โดยสั่งการให้อัดฉีดเม็ดเงินลงไปจนเกิดการจ้างงานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และมีการอนุมัติโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพิ่มเติม มีทั้งการสร้างเขื่อน สร้างสะพาน สร้างถนน สร้างตึกระฟ้า รวมถึงตึกร็อกกีเฟลเลอร์เซนเตอร์ที่ตั้งใจจะทำเป็นอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ด้วย
นอกจากนี้ หน่วยงานห้างร้านยังได้รับการสนับสนุนให้จ้างช่างภาพมืออาชีพมาบันทึกโครงการก่อสร้างทั้งหลาย เพื่อนำไปใช้ประชาสัมพันธ์ดึงดูดการลงทุน และช่างภาพ 3 คนที่ได้รับมอบหมายให้ถ่ายภาพคนงานก่อสร้างตึกร็อกกีเฟลเลอร์เซ็นเตอร์ก็คือ ชาร์ล เอ็บเบ็ตส์ (Charles Ebbets) โทมัส เคลลีย์ (Thomas Kelley) และวิลเลียม เลฟต์วิช (William Leftwich) แต่ทั้งสามคนก็จำไม่ได้เหมือนกันว่าใครเป็นคนถ่ายภาพนี้ และช่างภาพอีกคนหนึ่งที่ถูกเข้าใจผิดบ่อยๆ ว่าเป็นคนถ่ายภาพคือ ลิวอิส ไฮน์ (Lewis Hine) ซึ่งถ่ายภาพคนงานบนอาคารสูงเอาไว้เหมือนกัน แต่เป็นคนงานสร้างตึกเอ็มไพร์สเตท ซึ่งเป็นคนละแห่งกัน
ส่วนแรงงานทั้งหมดที่ปรากฏในภาพประวัติศาสตร์นี้ก็ถูกช่างภาพบอกให้ทำท่าสบายๆ บนคานเหล็ก โดยมีทั้งท่านั่งกินมื้อกลางวันและพักผ่อนอิริยาบถอย่างที่เห็น แต่ที่จริงยังมีอีกหลายภาพที่พวกเขาถูกสั่งให้ทำท่าเหมือนกำลังนอนหลับท่ามกลางโครงอาคารสูง 69 ชั้น ซึ่งเป็นจุดสูงสุดที่การก่อสร้างโครงเหล็กของตัวอาคารไปถึงพอดีในช่วงนั้น
ถึงแม้จะรู้ว่าเป็นการจัดฉาก แต่คนที่ดูภาพก็เข้าใจดีว่าถ้าคนในภาพเผลอไปนิดเดียวก็อาจเสี่ยงจบชีวิตได้ เพราะไม่มีอุปกรณ์ใดๆ ยึดโยงให้อุ่นใจได้เลยว่าพวกเขาจะไม่ตกลงไปจากโครงเหล็ก ทำให้ภาพนี้มีคุณูปการอีกอย่างคือการสร้างข้อถกเถียงเรื่องความปลอดภัยในการทำงานในยุคหลัง จนมีการผลักดันกฎหมายแรงงานและมาตรฐานความปลอดภัยทางการงาน ทำให้ไม่มีคนต้องเสี่ยงตายสร้างตึกด้วยวิธีแบบนี้อีกในสหรัฐฯ
ขณะที่หนังสารคดี Men at Lunch ของ ฌอน และ เอมอน โอควอไลน์ สองพี่น้องชาวไอริช ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2012 ก็เกิดจากการตามสืบหาคนในภาพนี้ โดยมีจุดเริ่มต้นจากเจ้าของผับแห่งหนึ่งในเมือง
ชอนเนอกลิช (Shanaglish) ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งแขวนภาพนี้ภายในร้านมานานแล้ว เมื่อสองพี่น้องโอควอไลน์ตามไปพิสูจน์ข้อเท็จจริง ทั้งจดหมายและฟิล์มเนกาทีฟ อันเป็นที่มาของภาพในผับ ก็เชื่อได้ว่าเจ้าของร้านเป็นญาติกับชายคนหนึ่งในภาพจริง
พวกเขาช่วยกันระบุตัวตนชาย 4 คนจากทั้งหมด 11 คนในภาพ โดยคนขวาสุดที่กำลังถือขวดอยู่ในมือ คือ ซอนนี กลิน (Sonny Glyn) ญาติเจ้าของผับที่อพยพไปตั้งรกรากในเมืองบอสตันของสหรัฐฯ ส่วนคนซ้ายสุดซึ่งกำลังถือบุหรี่ คือ แมตที โอชอนเนสซี (Matty O’Shaughnessy) ญาติเจ้าของผับเช่นกัน ส่วนคนที่สามจากซ้าย คือ โจเซฟ เอ็กเนอร์ (Joseph Eckner) และคนที่สามจากขวาคือโจ เคอร์ติส (Joe Curtis)
ปัจจุบัน อาคารร็อกกี้เฟลเลอร์เซ็นเตอร์นี้ถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของ ‘ทิชแมน สเปเยอร์’ นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของสหรัฐฯ และภาพลักษณ์ของย่านแมนฮัตตันที่ตึกนี้ตั้งอยู่ก็เป็นศูนย์กลางย่านธุรกิจการเงิน ไม่ไกลจากวอลล์สตรีท แต่ภาพนี้เป็นการบันทึกว่าก่อนจะกลายมาเป็นย่านหรูหราราคาแพง ที่แห่งนี้ถูกก่อร่างสร้างขึ้นจากแรงงานอพยพที่เป็นคนเล็กคนน้อยผู้เสี่ยงตายกับความสูงมาก่อน
อ้างอิง
- All that’s interesting. The Story Behind ‘Lunch Atop A Skyscraper,’ The Photo That Inspired Great Depression-Era America. https://bit.ly/3s7E8HM
- Bush Center. A Brief History of the American Dream. https://bit.ly/3e1z4w8
- NBC New York. Lunch Atop of 30 Rock Could Become NYC’s Latest Picturesque Attraction. https://bit.ly/3GRPuDI
- The Washington Post. One of the most iconic photos of American workers is not what it seems. https://wapo.st/3yy6MTz