บทรีวิวหนังสือ Ultrasocial: The Evolution of Human Nature and the Quest for a Sustainable Future!
ทำไมสังคมมนุษย์ มด และปลวกถึงมีวิวัฒนาการที่คล้ายคลึงกันมากมายขนาดนี้ หนังสือเล่มนี้มีคำตอบที่เป็นองค์รวมรอพวกเราอยู่!
หนังสือ Ultrasocial: The Evolution of Human Nature and the Quest for a Sustainable Future!
เขียนโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ จอห์น เกาว์ดี John Gowdy
จากสถาบันโพลิเทคนิคเรนส์ซเลียร์ (Rensselaer Polytechnic Institute)
สืบเนื่องจากการได้รับหนังสือเล่มนี้มาเป็นของขวัญแทนคำขอบคุณ ที่เราได้แปลบทความเรียงของผู้เขียนไว้เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา (ซึ่งเป็นบทความวิจัยที่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญอีกฉบับหนึ่งที่ได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการเพื่อให้คนทั่วโลกสามารถดาวน์โหลดเข้าอ่านได้ร่วมกัน เป็นบทวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม และการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ไร้ซึ่งอารยธรรม ดาวน์โหลดฉบับภาษาไทยได้ที่นี่ ดาวน์โหลดฉบับภาษาอังกฤษได้ที่นี่) หลังจากทางผู้เขียนได้ส่งหนังสือเล่มล่าสุดที่เขาเขียนมาให้กับเรา และพออ่านเสร็จปุ๊บ ก็รู้ทันทีว่าช่างเป็นหนังสือเล่มที่สำคัญมากจริงๆ อีกเล่มหนึ่ง ที่ใครอีกหลายๆ คนจะต้องอ่านกันให้ได้สักครั้ง“เพื่อสร้างความเข้าใจที่เป็นองค์รวมมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความเป็น สังคมขนาดใหญ่มหึมา: วิวัฒนาการทางธรรมชาติของมนุษย์ และการออกแสวงหาหาอนาคตที่ยั่งยืน” วันนี้จึงขอถือโอกาสหยิบเล่มนี้ขึ้นมาทำรีวิวให้ดูกันก่อนว่า หนังสือเล่มนี้เขียนเกี่ยวกับอะไร และความน่าจะอ่านมีมากน้อยเท่าไหร่ มาเริ่มเลยล่ะกัน! (จุดที่มาร์กไว้เป็นตัวบทที่เรายกออกมารีวิวให้ดูร่วมกัน)
หนังสือเล่มนี้มีอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน ดังนี้:
ส่วนที่ 1 The Evolution of Human Ultrasociality:
*-The Ultrasocial Origin of Our Existential Crisis
-The Evolution of Ultrasociality in Humans and Social Insects
*-Our Hunter-Gatherer Heritage and the Evolution of Human Nature
*-The Agricultural Transition and How It Changed Our Species
ส่วนที่ 2 The Rise and Consolidation of State/Market Societies:
*-The Rise of State Societies
-The Modern State/Market Superorganism
-Neoliberalism: The Ideology of the Superorganism
ส่วนที่ 3 Back to the Future:
*-Taming the Market: A Minimal Bioeconomic Program
-Evolving a Sustainable and Equitable Future: What Can We Learn from Nonmarket Cultures?
*– Reclaiming Human Nature: The Future Will Be Better (Eventually)
เราจะไม่ได้หยิบออกมารีวิวให้ดูไปด้วยกันครบถ้วนทุกบทตอน แต่จะรีวิวเป็นส่วนๆ ไป มาเริ่มกับส่วนที่ 1 กันก่อนเลย!
The Ultrasocial Origin of Our Existential Crisis:
ตัวบทนี้ผู้เขียนได้สื่อสารว่าก่อนที่เราจะเข้าใจวิกฤตการณ์ต่างๆ ทางสังคมและทางโลกได้นั้น พวกเราจะต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจกับจุดกำเนิดของความเป็นสัตว์สังคมขนาดใหญ่มหึมา ต่อรากเหง้าวิกฤตต่างๆ ทางสังคมของพวกเรากันเสียก่อน ว่ามันเริ่มต้นมาจากอะไร และหากจะอยากแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้เราควรมุ่งหน้าไปทางไหนมากขึ้น ข้อมูลเชิงลึกทั้งหมดที่ผู้เขียนนำเสนอต่อชาวโลกในตัวบทนี้นั้นแน่นมากๆ เราขอสรุปย่อออกมารีวิวเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ดังนี้ ผู้เขียนนำเสนอต่อผู้อ่านว่าปัญหาขั้นวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังทุกชีวิตอื่นๆ ที่เหลือในระบบนิเวศของโลกด้วยนั้น มันเป็นผลพวงมาจากการหันมาทำเกษตรกรรมอย่างเข้มข้นของมนุษย์ในยุคโฮโลซีน (Holocene Epoch คือ ยุคสมัยทางธรณีวิทยาที่มีสภาพอากาศคงที่และอบอุ่นยาวนานเป็นพิเศษ เมื่อ 12,000 ปีที่แล้ว) เพราะว่าถือเป็นพื้นฐานหลักของการเกิดขึ้นมาของระบบเศรษฐกิจในสังคมมนุษย์นับแต่นั้นมา ในระดับเล็กๆ และทวีความใหญ่มหึมายิ่งขึ้นในปัจจุบันนี้ และการสับเปลี่ยนวิถีชีวิตมาทำเกษตรกรรมก็ส่งผลให้สังคมมนุษย์กลายมาเป็น “Ultrasocial” นับตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมา เพราะเริ่มมีการจัดตั้งสังคมในแบบ “Superorganism” กล่าวคือมีอิสระในการเลือก รู้จักใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น มีองค์กรสถาบันทางสังคมมากขึ้น และมีระบบความเชื่อที่อุทิศตนให้กับการสร้างผลกำไรทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับมาตั้งแต่ยุคนั้นจนถึง ณ ปัจจุบันนี้ที่ยิ่งทวีความสุดโต่งทางการกอบโกยผลกำไรส่วนตัวมากกว่ายุคก่อนเสียอีก! ซึ่ง เกาว์ดี (ผู้เขียน) เล่าว่า ระบบเศรษฐกิจของสังคมมนุษย์ได้เริ่มต้นมากับการเป็นเหมือน “Self-referential organism” ซึ่งเป็นตัวมุ่งเอาเปรียบความเป็นอยู่ที่ดีส่วนบุคคลไปภายในระบบ ดังนั้น
“เรื่องวิกฤตการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนี้จึงไม่ใช่ความผิดจากธรรมชาติของมนุษย์โดยตรง แต่เป็นความผิดของการสร้างผลกำไรทางเศรษฐกิจของระบบเองที่เกิดขึ้นมากับการปฏิวัติเกษตรกรรมเป็นเวลากว่า 10,000 ปีที่แล้วมานั่นเอง”
แล้วการกลายมาเป็นสัตว์สังคมขนาดใหญ่มหึมา (Ultrasocial หรือ Highly social) มีจุดเริ่มต้นมาอย่างไร เกาว์ดี เล่าว่า มันก็เกิดขึ้นมาจาก การหันมาทำเกษตรกรรมในยุคโฮโลซีนที่มีสภาพอากาศคงที่และนั่นจึงเอื้อต่อการตั้งที่อยู่อาศัยถาวร ทำการเกษตรปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และมีผลผลิตส่วนเกินสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการคิดค้นหลักการทางเศรษฐศาสตร์ขึ้น โดยเริ่มต้นมากับการแลกเปลี่ยนของกันและกัน จากนั้นก็เริ่มค้าขายแลกเปลี่ยนด้วยของมีค่า จนมาถึงการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตรา จากเพียงภายในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคก็ขยายตัวออกไปเป็นข้ามทวีปและทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้นั่นเอง ดังนั้นเพียงจากการหันมาทำเกษตรกรรมและการจัดตั้งระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นก็ส่งผลให้สังคมมนุษย์กลายมาเป็นสังคมขนาดใหญ่มหึมาในเวลาเดียวกัน (มีรายละเอียดอีกเพียบโปรดอ่านทั้งเล่มเองน๊า)
ความน่าสนใจของตัวบทนี้มีอยู่เยอะมากจริงๆ แต่ขอรีวิวสั้นๆ ต่ออีกหน่อยว่า: เรื่องจำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นและลดลงล้วนขึ้นอยู่กับเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และจากการเข้าถึงทรัพยากรที่มีให้ใช้สอยอย่างต่อเนื่องจากโลกธรรมาติอีกด้วย ผลลัพธ์จากการที่มีสภาพอากาศคงที่ในยุคโฮโลซีน ได้ส่งผลให้มีการหันไปพึ่งพาธัญพืชจำพวกข้าวมากขึ้น ซึ่งในยุคก่อนโน้นจะเป็นข้าวป่าโดยส่วนใหญ่ และในท้ายที่สุดก็นำไปสู่การตั้งถิ่นฐานถาวรทำเกษตรกรรม และมีการก่อตั้งสังคมที่มีรัฐขนาดใหญ่ขึ้น (Large-scale-state societies) เหตุการณ์นี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่พันปีหลังจากการทำเกษตรแบบอยู่ที่เดิม (Sedentary agriculture) และเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายไปทั่ว จนกลายมาเป็นแนวทางหลักของคนในยุคนั้น แล้วในช่วงเวลาสั้นๆ นี้เองมันก็ส่งผลให้จำนวนประชากรมนุษย์ระเบิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากมีเพียงไม่กี่ล้านคนก็ได้เพิ่มสูงมากขึ้นเป็น 200 ล้านคนจากช่วงเริ่มต้นปีสากลศักราช (ยุคปัจจุบัน) หรือ common era (CE) เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว การมีจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้นแบบนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางสังคม เศรษฐกิจ และโลกธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการทำเกษตรกรรมแบบอยู่ที่เดิมของสังคมที่มีรัฐขนาดใหญ่เป็นศูนย์กลาง
สังคมของ มด ปลวก และมนุษย์ ล้วนเป็นสังคมที่โดดเด่นมากบนดาวเคราะห์ดวงนี้ เพราะเขาครอบครองโลกในแง่ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ซึ่งสังเกตได้จากอัตราชีวมวลของสัตว์ (animal biomass) ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกจะประกอบไปด้วย มด ปลวก และมนุษย์สูงมาก) ในแง่ขนาดของเมืองที่ขยายตัวไปทั่วพื้นผิวโลก และในแง่ประเภทของงานต่างๆ ในสังคมของสัตว์ทั้งสามชนิดนี้ นอกจากนี้ยังมีความเป็นเอกลักษณ์อีกในแง่ของการจัดตั้งสังคมที่ซับซ้อน มุ่งผลิตของส่วนเกินเพื่อสร้างกำไรทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ชุดกลไกการทำงานจากสังคมที่มีรัฐล้วนนำไปสู่การเกิดขึ้นของตลาดเศรษฐกิจโลก (Global market economic) โดยตรงในปัจจุบัน!
ปัจจุบันนี้พวกเราเผชิญกับวิกฤตใหญ่ๆ อยู่ 2 อย่าง ได้แก่
1. ความโลภมากและการเข้าแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากธรรมชาติ
2. การเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
ซึ่งมันส่งผลให้ความเป็นอยู่ที่ดีของแต่ละชีวิตลดลง และสุขภาพของระบบนิเวศของโลกที่กำลังสังเวยชีพให้กับผลกำไรทางเศรษฐกิจ เกษตรกรรมได้เปลี่ยนสังคมมนุษย์และโลกธรรมชาติไปอย่างรวดเร็ว อีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสุดขีด นับมาตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกที่ 2 บวกกับการขยายตัวของตลาดเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมนุษย์ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วงนี้จึงถูกเรียกว่าเป็นช่วง “The Great Acceleration” หรือเป็นช่วงที่กิจกรรมต่างๆ ทางภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีของสังคมมนุษย์ในช่วงนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และทั้งหมดนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งหากเทียบกับกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลต่อโลกและสังคมในอดีตยังจัดอยู่เพียงในระบบภูมิภาคมากกว่า เช่น การล่มสลายในสังคมต่างๆ ในอดีต แต่ทุกวันนี้ผลกระทบดังกล่าวถูกจัดอยู่ในระดับโลกไปเสียแล้ว ซึ่งมันจะเปลี่ยนแปลงการทำงานของโลกไปเป็นอีกพันปีเลยทีเดียว!
ผลลัพธ์หลักๆ อันดับแรกจากการหันมาทำเกษตรกรรรมก็คือ: การเข้าครอบครองระบบนิเวศท้องถิ่นของมนุษย์จากช่วง “The Great Acceleration” ของเศรษฐกิจโลกนับมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกที่สอง และดูเหมือนว่ามนุษย์ได้เข้าสู่สถานะใหม่ที่ก่อพิษร้ายแรงมากยิ่งขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ต่อโลก จำนวนประชากรของ นก ปลา แมลง และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมล้วนลดจำนวนลงมากกว่าครึ่งหนึ่งไปเสียแล้ว นับมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ผลลัพธ์อันที่สองจากการหันมาทำเกษตรกรรมก็คือ: การสูญเสียความเป็นอยู่ที่ดีของแต่ละคนไป และการสูญเสียความอิสระที่เป็นผลมาจาก การโดนบีบบังคับให้อยู่ในกรอบ การแบ่งแยกกันออกเป็นส่วนๆ การครองอำนาจควบคุมการผลิตอาหาร ความซับซ้อนของการแบ่งงานกันทำ ได้เพิ่มผลผลิตทางอาหารสูงขึ้น และจึงส่งผลให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ในเวลาเดียวกัน เรื่องของความอิสระส่วนตัว ความสามารถในการพึ่งพาตนเองก็โดนกดทับไว้มากขึ้น เพื่อง่ายต่อการโดนควบคุมอีกที วิถีชีวิตของสังคมเกษตรกรรมจึงตรงกันข้ามกับวิถีชีวิตของสังคมชนล่าสัตว์ละเก็บของป่าโดยสิ้นเชิง อย่าง ในสังคมเกษตรชีวิตส่วนใหญ่จะใช้ไปกับงานเฉพาะด้าน ทำกิจกรรมเดิมซ้ำๆ แม้จะมีสายอาชีพที่เพิ่มมากขึ้น แต่หน้าที่ของแต่ละคนจะทำได้อยู่ไม่กี่อย่าง หรือมีอยู่จำกัด เป็นต้น พฤติกรรมส่วนบุคคลจึงคล้ายคลึงกันในสังคมมนุษย์และสังคมแมลง กับการแบ่งงานกันทำอย่างละเอียดและเป็นงานที่เฉพาะกว่า แม้ว่าทั้งสองสังคมจะใหญ่กว่าและมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น แต่ยิ่งสังคมเพิ่มความซับซ้อนมากเท่าไหร่ พฤติกรรมส่วนบุคคลในสังคมนั้นๆ ก็จะยิ่งลดความซับซ้อนลงไปเท่านั้น! (น่าติดตามอ่านรายละเอียดมากๆ ในบทนี้)
The Evolution of Ultrasociality in Humans and Social Insects:
บทนี้เกาว์ดี เล่าถึงเรื่องทางวิวัฒนาการของการกลายมาเป็นสังคมขนาดใหญ่มหึมาในมนุษย์และแมลงสังคม โดยระบุผ่านตัวบทไว้อย่างละเอียดยิบ แต่ราจะหยิบมารีวิวให้ดูเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ดังนี้ คำศัพท์ที่ใช้อธิบายคำว่าสัตว์สังคม หรือ “Social animal” ได้แก่ คำว่า “Eusociality /Ultrasociality/ และ Superorganism” ซึ่งโดยปกติแล้วสัตว์สังคมมักโดนเรียกว่าเป็น “Eusocial” และ “Ultrasocial” ซึ่งมีงานศึกษาจากหลากหลายมุมที่นิยามการเรียกชื่อเหล่านี้ขึ้นมา เช่น จาก Richerson and Boyd ใช้นิยามคำว่า “Ultrasocial” เพื่ออธิบายถึงสังคมมนุษย์ยุคหลังการทำเกษตรกรรม แต่ไม่ได้ใช้คำนี้ในแมลงสังคม หรือ “Social insect” จากงานของ Turchin ที่ได้กำหนดคำศัพท์ “Ultrasociality” ว่าเป็นการร่วมมือกันในระดับใหญ่ระหว่างมนุษย์ที่ไม่รู้จักกัน และมุ่งเน้นการร่วมมือกันทำศึกสงครามเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนวิวัฒนาการของกลุ่มใหญ่ แต่คำศัพท์อีกตัว คือ “Eusociality” จะใช้กับการร่วมมือกันในระดับเล็กๆ ในสังคมเล็กๆ ด้วยการเลี้ยงดูคนหนุ่ม แบ่งปันอาหารกัน และมีการแบ่งงานกันทำแบบเรียบง่าย
ดังนั้น ตามนิยามนี้คำว่า “Ultrasociality” จึงอ้างถึงการจัดตั้งสังคมของสัตว์สังคมโดยส่วนใหญ่ ที่มีการแบ่งงานกันทำอย่างเต็มรูปแบบ มีนักเชี่ยวชาญเพาะด้าน ไม่ออกหาอาหารเอง แต่ได้อาหารมาจากการเพาะปลูกและเลี้ยงจากคนอื่น บทนี้เกาว์ดีตั้งคำถามขึ้นว่า แล้วใครอยู่ในสังคมแบบ “Ultrasociality” กันบ้าง คำตอบคือ มดที่เลี้ยงเห็ดรา (Fungus-growing Ants) ปลวกที่เลี้ยงเห็ดรา (Fungus-growing termites) และสังคมมนุษย์ที่ซับซ้อน (Complex human societies) กับกลุ่มชนที่ทำเกษตรกรรม ซึ่งจะตรงกันข้ามกับกลุ่มชนล่าสัตว์-เก็บของป่า เพราะพวกเขาจะโดนเรียกเป็น “Eusociality” เพราะไม่การทำเกษตรกรรม ไม่มีการแบ่งงานกันทำที่ยุ่งยากซับซ้อน และไม่ตั้งถิ่นฐานถาวรเป็นสังคมขนาดใหญ่มหึมา!
ทั้งมดและปลวกได้ฝึกทำเกษตรกรรมมาเป็นเวลาอย่างยาวนานกว่า 10 ล้านปี และยังดำรงอยู่มาในระบบที่มั่นคงเป็นอย่างมาก ที่พึ่งพาอาศัยกันและกันระหว่างมดหรือปลวกหนึ่งสายพันธุ์ ที่อิงอาศัยอยู่กับเชื้อเห็ดราอีกหนึ่งสายพันธุ์ แล้วการเป็นสังคมขนาดใหญ่มหึมาวิวัฒน์มาได้อย่างไร? ก็เกิดมาพร้อมๆ กับหลักการเชิงวิวัฒนาการทางชีววิทยาที่ประกอบขึ้นด้วยกระบวนการของ “Group selection /Epigenetic และ Social evolution” ที่จะทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมขนาดใหญ่มหึมาได้ ส่วนวิวัฒนาการที่ผลักดันให้เกิดเป็นสังคมมนุษย์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ก็เป็นผลมาจากการสับเปลี่ยนวิถีชีวิตออกจากการล่าสัตว์และเก็บของป่า มาสู่การทำเกษตรกรรม และเรื่องนี้ส่งผลให้สังคมมนุษย์และความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์และโลกธรรมชาติเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง สังคมขนาดใหญ่มหึมา จะเน้นการผลิตและขยายแหล่งอาหารมากกว่าที่จะรอออกเก็บหากินเองตามธรรมชาติ ยิ่งมีการแบ่งงานกันทำมากขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มผลผลิตได้สูงมากขึ้น และเรื่องนี้ก็ช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น และจึงส่งผลให้เกิดการแบ่งงานกันทำที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อพัฒนาผลผลิตส่วนเกินให้ได้มากที่สุด
มีงานศึกษาของนักชีววิทยา ที่ได้ศึกษาสังคมของฝูงมดที่อยู่กันเป็นสังคมใหญ่ และฝูงมดที่อยู่เป็นสังคมเล็กๆ พบว่า มดแต่ละตัวกลับมีความยืดหยุ่นน้อยลงในงานที่พวกเขาทำ เช่นเดียวกับในสังคมขนาดใหญ่มหึมาของมนุษย์หลังการทำเกษตรกรรมที่พบว่า มนุษย์ได้สูญเสียความฉลาดส่วนตัว และความอิสระส่วนตัวไปหลังจากการสับเปลี่ยนมาทำเกษตร และมีการระบุลักษณะอันโดดเด่นของมนุษย์ในสังคมเกษตรกรรมที่มีการแบ่งชนชั้นทางสังคมกันไว้ว่า บุคคลทั่วไปโดยเฉลี่ยแล้วจะสูญเสียความเป็นอยู่ที่ดีไปในตัว ได้รับสาอาหารน้อยกว่า มีอายุขัยสั้นกว่า และมีโรคภัยไข้เจ็บสูงกว่า เป็นต้น!
ตลอดประวัติศาสตร์ของมานุษยชาติ พวกเราอยู่อาศัยอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ และได้ผลันตัวมาอยู่ภาตใต้การครอบครองของพวกมั่งคั่งส่วนน้อย พวกเราดำรงอยู่กันมาในแบบไม่ปลูกพืชและไม่เลี้ยงสัตว์ แต่อาศัยอยู่มาด้วยการออกหาของป่าและล่าสัตว์ในผืนป่าเป็นส่วนใหญ่ หรือ “Immediate-return hunter-gatherers” ด้วยเครื่องมือหินเครื่องมือไม้อันเรียบง่าย และมีแบ่งงานกันทำค่อนข้างน้อย ที่นับจากเรื่องอายุและเพศเท่านั้น บรรพบุรุษในยุคหินของพวกเราดำรงอยู่มาอย่างเท่าเทียมและกลมกลืนกัน โดยที่ไม่ทำให้ที่อยู่อาศัยของตนเองขาดความมั่นคง! (เนื้อหาส่วนที่เหลือในตัวบทนี้น่าสนใจมากจริงๆ เล๊ย)
Our Hunter-Gatherer Heritage and the Evolution of Human Nature:
ตัวบทนี้ เกาว์ดีคุยเกี่ยวกับเรื่องแนวคิดที่ว่าสังคมล่าสัตว์-เก็บของป่า มักถูกมองและเข้าใจไปในทางที่ผิดๆ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นผลมาจาก มุมมองกระแสหลักนับมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา จากความพัฒนาทางเทคโนโลยีและความก้าวหน้าของสังคมตะวันตกที่นิยมคิดว่า
“การที่มนุษย์ชอบครอบครองธรรมชาติ มนุษย์ชอบทำลายล้าง หรือชอบบังคับควบคุมทุกชีวิตอื่น นั้นล้วนเกิดมาจากธรรมชาติของมนุษย์ หรือ Human nature”
ซึ่ง เกาว์ดีชี้ผ่านตัวบทให้เห็นว่ามุมมองเช่นนี้ย่อมไม่ถูกต้อง อาจจะจริงอยู่ที่พวกเราส่วนใหญ่มักจะเห็นด้วยว่ามันก็เป็นเช่นนั้น แต่ถ้าหากศึกษาประวัติศาสตร์ของมานุษยชาติทั้งหมดก็จะพบว่า ตลอดระยะเวลากว่า 300,000 ปีของมนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ พวกเราล้วนดำรงอยู่มาในสังคมล่าสัตว์-เก็บของป่ามาโดยตลอด และพอถึงช่วงที่สภาพอากาศของโลกเริ่มคงที่และอบอุ่นยาวนานเป็นพิเศษในยุคโฮโลซีน เมื่อ 12,000 ปีที่แล้วมา มันได้เปิดโอกาสให้มนุษย์บางส่วนได้หันไปปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เดิม อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเป็นชุมชน มีการสร้างเมืองและแต่งตั้งผู้นำ มีกฎหมาย มีการแบ่งงานกันทำ มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นตามมา และภายในช่วงระยะเวลานี้เองก็มีการเรียกชื่อสังคมที่แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ โดยนักมานุษยวิทยาสังคม ได้แก่ สังคมชนล่าสัตว์และเก็บของป่า (Hunter-gatherer societies) สังคมชนเกษตร (Agriculturalist societies) สังคมกสิกรรมพืชสวน/ สังคมเลี้ยงสัตว์ (Horticulturalists /Pastoralists society) เป็นต้น
เกาว์ดีได้ยกตัวอย่างกลุ่มคนล่าสัตว์และเก็บของป่าให้ดู อย่าง ชาวคุงซาน หรือ !Kung แห่งแอฟริกาใต้ ชาวอะบอริจินแห่งออสเตรเลีย ชาวฮาดซา (The Hadza of east Affrica) และชาวอินูอิตแห่งอเมริกาเหนือ ล้วนได้รับการค้นพบว่ากินดีอยู่ดี ดำรงอยู่อย่างเท่าเทียมกัน มีความซับซ้อนทางสังคมและเฉลียวฉลาด พวกเขามีเวลาว่างอย่างล้นเหลือ จนมีงานเขียนสุดคลาสสิกชิ้นหนึ่งออกมา จากนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมท่านหนึ่งชื่อว่า Marshall Sahlins ซึ่งได้อธิบายถึงสังคมล่าสัตว์และเก็บของป่าว่าเป็นสังคมมั่งคั่งดั้งเดิม หรือ “the original affluent society” เลยทีเดียว การทำเกษตรกรรมไม่ได้เข้ามาแทนที่การล่าสัตว์-เก็บของป่า โดยการแข่งขันกันล่าสัตว์หรือเก็บเกี่ยวของป่า แต่ชาวเกษตรเอาชนะโดยการมีจำนวนประชากรที่เป็นชนเกษตรมากกว่าในเวลาต่อมา และจากการกวาดล้างกลุ่มชนล่าสัตว์และเก็บของป่าอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้แล้ว เมื่อ 1,500 ปีก่อนพื้นที่อยู่อาศัยหนึ่งในสามของโลกยังคงมีกลุ่มชนล่าสัตว์และเก็บของป่าอาศัยอยู่เต็มไปหมด
นิยามความหมายของชนล่าสัตว์-เก็บของป่าที่เหมาะสมมากๆ กำหนดขึ้นโดย Penter-Brick et. al ดังนี้
ชนล่าสัตว์และเก็บของป่า พึ่งพาอยู่กับการดำรงชีพแบบไม่ควบคุมการผลิตอาหารโดยตรง และยังมีการควบคุมเรื่องอื่นๆ น้อยมากอีกด้วย อย่างในเรื่องพฤติกรรมและการแบ่งปันอาหาร อีกนิยามหนึ่งที่ชัดเจนดีเหมือนกัน จาก Woodburn ซึ่งเป็นคนที่ได้แยกความแตกต่างของของความเป็นชนล่าสัตว์ในแบบ “Immediate-return และ Delayed return hunter-gatherers” โดย “Immediate-return hunter-gatherers” จะมีลักษณะดังนี้คือ เป็นกลุ่มชนล่าสัตว์-ของป่าที่ได้อาหารและของใช้อื่นๆ มาโดยตรงและโดยทันทีจากการใช้แรงงานของพวกเขาเอง เช่น การออกล่าสัตว์และออกหาเสบียงอาหาร จะกินอาหารที่เก็บหามาได้ในวันเดียวกัน หรือกินในวันต่อมาด้วย แต่ส่วนใหญ่จะไม่เก็บไว้นานเกินไป และไม่มีการปรุงแต่งอาหารแบบครบเครื่อง รวมถึงไม่กักเก็บอาหาร พวกเขาจะใช้เครื่องมือต่างๆ ที่หาได้ง่ายหรือใช้แทนกันได้ ตามแต่ความจำเป็น และอาวุธก็ทำด้วยฝีมือล้วนๆ และไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานหนักจนเกินไป ส่วนนิยามในแบบ “Delayed return hunter-gatherers” ก็คือ มีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และมีข้อได้เปรียบในแง่ของการมี แหดัก เรือ กับดัก สิ่งของประดิษฐ์อื่นๆ ผลิตอาหารที่อาจจะใช้เวลาอยู่นานในพื้นที่นั้นๆ เป็นหลายเดือนหรือเป็นปีๆ ก็ได้ แต่ทั้งสองกลุ่มที่กล่าวมาล้วนไม่ทำเกษตรกรรม หรือเลี้ยงสัตว์
สังคมชนเกษตรกรรม (Agricultural societies) จะควบคุมการผลิตอาหาร และมีห่วงโซ่การผลิตอย่างครบวงจร มีผลเก็บเกี่ยวและมีการกระจายอาหารนั้นๆ ออกไป การเปลี่ยนผ่านมาทำเกษตรกรรมเป็นกระบวนการทางวิวัฒนาการที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ ในช่วงเวลาหลายพันปี ดังนั้นจึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุดของมนุษย์สายพันธุ์เซเปียนส์ เกาว์ดี ยกตัวอย่างเรื่องอคติ หรือแนวคิดลบๆ ต่อการดำรงอยู่ในแบบชนล่าสัตว์และเก็บของป่าเพิ่มเติมในตัวบทนี้ ที่พบบ่อยๆ เลยก็จะประมาณว่า:
· ชาวศิวิไลซ์จะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากพวกล้าหลังป่าเถื่อนล่ะ
· เราย้อนกลับไปอยู่แบบนั้นไม่ได้แล้ว ทำไมต้องมาพูดถึงการล่าสัตว์และเก็บของป่ากันอีกล่ะ
· ด้วยวามเชื่อที่ว่าชนล่าสัตว์และเก็บของป่าก็ทำลายล้างโลกธรรมชาติเช่นเดียวกันกับพวกเรานั่นแหละ ความเป็นมนุษย์ก็คือชอบโลภมากและมักได้ ในเมื่อพวกเขาก็มีพฤติกรรมเดียวกันกับพวกเรา แล้วเราจะเรียนรู้อะไรจากพวกเขาได้บ้าง
· พวกเขาจะสอนเราเกี่ยวกับเรื่องอำนาจและความไม่เท่าเทียมกันได้อย่างไร เป็นต้น
เกาว์ดียกเอาตัวอย่างเหล่านี้ขึ้นมาก็เพื่อชี้ให้เห็นว่ามันมีความผิดพลาด เพราะความเป็นมนุษย์ของโฮโมเซเปียนส์ไม่ได้เริ่มต้นที่เมื่อ 12,000 ปีที่แล้วมา แต่มันเริ่มต้นตั้งแต่มนุษย์ยุคแรกๆ แล้วต่างหาก และล้วนมีความเฉลียวฉลาดในการดำรงอยู่อย่างกลมกลืนกับโลกธรรมชาติมาโดยตลอด ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดที่มีอคติแบบนี้อยู่มาก
อีกประเด็นหนึ่งที่เกาว์ดียกมาอธิบายในตัวบทนี้ก็คือเรื่อง “the myth of human-caused Pleistocene extinctions” จากมุมมองกระแสหลักก็มักจะมองว่าการทำลายล้างธรรมชาติในปัจจุบันนี้ เป็นเพราะว่า“ธรรมชาติของมนุษย์” มนุษย์วิวัฒนาการมาเพื่อเป็นคนละโมบ โลภมาก ชอบแข่งขันกัน และเราเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ข้อถกเถียงที่เกาว์ดียกมาก็คือว่า
“ถ้าสิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติของมนุษย์จริง แล้วทำไมโฮโมเซเปียนส์ถึงยังอาศัยอยู่กันมาอย่างหลากหลายวัฒนาธรรมในแต่ละสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น และยังดำรงอยู่มาอย่างยั่งยืนตลอดเวลากว่า 300,000 ได้ล่ะ”
หรือแม้แต่ในช่วงที่หันมาทำเกษตรกรรม ก็ยังพบว่ามีกลุ่มคนอื่นๆ ที่ยังดำรงรงอยู่มาอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ มีจำนวนประชากรคงที่ และยังมีทรัพยากรให้ใช้สอยคงที่อีกด้วย การโต้แย้งกันโดยส่วนใหญ่ต่อมนุษย์ในยุคหินก็คือ สมมติฐานที่ว่ามนุษย์เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของชีวิตอื่นด้วยการฆ่าเยอะเกินไป หรือ “Overkill hypothesis” ซึ่ง เกาว์ดีมองว่ามันเป็นเพียงการยกมาเป็นข้อแก้ตัวจากการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ในยุคแอนโธรพอซีน (Anthropocene) ได้ง่ายๆ สมมติฐานนี้ยังใช้เพื่อเสริมแนวคิดที่ว่า มนุษย์เป็นชนิดพันธุ์ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร (Predatory species) ที่มีวิวัฒนาการมาเป็น “Killing Apes” ที่ชอบเอาชนะและทำลายทุกอย่างอื่น
อีกแนวคิดหนึ่งที่สังคมชนล่าสัตว์และเก็บของป่าโดนกล่าวหาว่าเป็นตัวการหลักที่ก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ของของสัตว์บกขนาดใหญ่ หรือ Megafauna extinction ก็คือการใช้ไฟ แต่ก็พบหลักฐานมากมายว่านั่นไม่ใช่ต้นเหตุตัวจริงต่อการสูญพันธุ์เหล่านั้น เพราะพบหลักฐานที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป และความผันผวนของสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปในยุคน้ำแข็งสุดท้ายสลับกับยุคโฮโลซีน จริงอยู่ที่มนุษย์ในยุคนั้นก็มีส่วนก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ไปบ้าง แต่ไม่ใช่ต้นตอหลักๆ ของปัญหานี้ อีกอย่างก็คือผู้คนยังสับสัน หรือแยกไม่ออกว่ากลุ่มชนใดเป็นชนล่าสัตว์-เก็บของป่า และกลุ่มชนใดเป็นกลุ่มชนเกษตร ที่มีอัตราการทำลายสิ่งแวดล้อมไม่เท่ากัน เป็นต้น
จากประวัติศาสตร์ของสังคมชนล่าสัตว์และเก็บของป่าบอกกับพวกเราว่า:
1. มันไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเป็นคนโลภมากและชอบแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัว
2. สังคมที่แบ่งชนชั้น และสังคมที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองของรัฐ ล้วนไม่ใช่สภาพธรรมชาติของมนุษย์ ศัตรูในที้ไม่ใช่พวกเรากันเอง แต่มันคือความแปลกประหลาดของระบบเศรษฐกิจที่มนุษย์ได้ประสบมาเป็นเวลากว่า 10,000 ปีต่างหาก
ภาพกลุ่มคนซานร่วมสมัยของชาวบุชแมน ในสาธารณรัฐนามิเบีย ทวีปแอฟริกาตอนใต้
The Agricultural Transition and How It Changed Our Species:
บทนี้เกาว์ดีพูดถึงการเปลี่ยนผ่านออกไปจากสังคมล่าสัตว์และเก็บของป่ามาสู่สังคมเกษตรกรรมในห้วงเวลากว่า 10,000 ปีที่แล้วมา และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อสังคมมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลักๆ เลยก็คือ เกษตรกรรมได้ทำให้มนุษย์สายพันธุ์เรามีความสามารถในการควบคุมและขยายแหล่งอาหาร รวมถึงมีความได้เปรียบทางวิวัฒนาการในแง่ของจำนวนประชากรโดยรวมที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน มีขนาดของชุมชนที่ใหญ่ขึ้นจนคาดการณ์ไม่ได้ และในขณะเดียวกันก็เข้าควบคุมระบบนิเวศไปในตัว เกาว์ดียกข้อถกเถียงว่าที่จริงแล้วมนุษย์ไม่ได้เลือกทำเกษตรกรรม แต่เป็นเพราะสภาพอากาศในยุคโฮโลซีนเอื้อต่อการหันมาปลูกพืชเลี้ยงสัตว์มากขึ้น เขายกตัวอย่าง ชาว Natufian ที่ได้เริ่มต้นมากับการหันาทำเกษตรในยุคแรกๆ นั้น แต่ก็หยุดทำไปในช่วงยุคน้ำแข็งน้อย หรือ Younger Dryas ที่มีอากาศหนาวเย็นเกิดขึ้นสลับกันเมื่อประมาณระหว่าง 12,800 และ 11,500 ปีที่แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ได้ผลผลิตน้อยจากการทำเกษตรกรรมในช่วงยุคหินตอนปลาย หรือ Late Pleistocene คือโลกมีระดับ Co2 ต่ำอยู่ประมาณ 110 ppm เมื่อเทียบกับ 250 ppm ในช่วงเริ่มต้นของยุคโฮโลซีน
ในช่วงยุคหิน กลุ่มชนล่าสัตว์-เก็บของป่าจะเคลื่อนย้ายไปตามแห่งธัญพืชจำพวกข้าวป่าที่เติบโตเองได้ และข้าวป่าเหล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งอาหารพวกเขาด้วย ตามที่สภาพอากาศอบอุ่นขึ้นและคงที่มากขึ้น ข้าวป่าจึงกลายมาเป็นแหล่งอาหารที่พึ่งพาได้ และยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญอีกด้วย พอมีสภาพอากาศคงที่และคาดการณ์ได้ ผู้คนก็เริ่มหว่านเมล็ดพืชพันธุ์ป่า และได้เริ่มกักเก็บธัญพืชที่เก็บหามาได้ จนเริ่มมีผลผลิตส่วนเกิน และได้กักเก็บข้าวในแต่ละปี จึงถือเป็นกลยุทธ์ของการยังชีพที่เหมาะสมจากปีต่อปี แล้วผู้คนในตอนนั้นก็เริ่มเพาะปลูกพืชผลหลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าที่คิดไว้ตามที่ต้องการ เพราะส่วนใหญ่มักมีผลผลิตส่วนเกินให้เก็บ เรื่องนี้เองจึงส่งผลให้มีจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้นไปในตัวเพราะไม่ขาดอาหาร ขณะที่ผู้คนเพาะหว่านเมล็ดพันธุ์ต่างๆ พวกเขาก็ได้คัดเลือกชนิดพันธุ์ตามที่ต้องการมากกว่าเพื่อปลูกต่อไปเรื่อยๆ และจากนั้นก็นำไปสู่การทำเกษตรกรรมในท้ายที่สุด และประชากรส่วนใหญ่ก็ต้องพึ่งพาการควบคุมการเพาะปลูกอาหารอย่างเต็มรูปแบบ ผลที่ตามมาก็คือ จากปลูกข้าวป่าก็กลายมาปลูกข้าวพันธุ์จากการคัดเลือกชนิดที่เป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น และในสุดท้ายก็ได้ชนิดพันธุ์ที่ต้องมีมนุษย์ดูแลถึงจะอยู่รอดได้ แต่ทำไมต้องเป็นธัญพืชจำพวกข้าวด้วยล่ะ คงเป็นเพราะจุดเด่นของข้าวคือ กักเก็บไว้นานได้เป็นปีๆ ก็ไม่เสีย แค่มีฝนเพียงพอข้าวก็งอกได้แล้ว และหากยิ่งปลูกเยอะ ก็ยิ่งจะได้ผลลิตส่วนเกินเพิ่มมากขึ้นไปด้วยนั่นเอง พบหลักฐานการเริ่มกักเก็บอาหารเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 11,000 ปีก่อน
ด้วยการรู้จักการเพาะปลูก ก็ได้เริ่มมีการพัฒนาวิธีควบคุมการผลิตอาหารเป็นแหล่งใหญ่มากขึ้น รวมถึงมีการแบ่งงานกันทำที่ชัดเจนมากขึ้นภายในกลุ่มตามมา เรื่องเหล่านี้จึงถือเป็นพื้นฐานของการจัดตั้งหน่วยเศรษฐกิจของมนุษย์ แต่ผลกระทบที่ตามมาจากการเพาะปลูกข้าวในแต่ล่ะปีและในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ส่งผลลบต่อระบบนิเวศอีกด้วย อาทิ สูญเสียชั้นดินดี ดินเสื่อมสภาพ ต้องตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น เพื่อขยายแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งเพาะปลูกอาหาร ซึ่งก็ยิ่งส่งผลให้ชั้นดินพังทลาย ดินขาดสารอาหาร และดินเค็มมากขึ้นตามมา
ตัวอย่างผลลัพธ์ทางลบจากการหันมาทำเกษตรกรรมอีกหลายอย่าง ได้แก่ สุขภาพของมนุษย์โดยรวมมีความสมบูรณ์แข็งแรงน้อยลง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายที่แย่ลงในช่วงเวลากว่า 10,000 ปีเป็นต้นมา จากงานศึกษาของ Larsen (The agricultural revolution as environmental catastrophe) ถึงแม้จะบอกว่า เกษตรกรรมก่อให้เกิดการมีพื้นฐานของเศรษฐกิจ เพื่อการได้ก่อตั้งรัฐและสร้างอารยธรรม แต่การเปลี่ยนแปลงการบริโภคอาหารและวิธีการออกหาอาหาร ได้ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์โดยส่วนใหญ่ลดลงในช่วง 10,000 ปีที่แล้วมานี้ Larsen ยังอ้างอิงอีกด้วยว่าหลังจากการหันมาทำเกษตรกรรม มนุษย์มีลำตัวสั้นกว่า ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงน้อยกว่า และมีอัตราการเกิดโรคสูงกว่า อย่าง โรคปวดข้อ โรคเรื้อน ไปจนถึงโรคฟันผุเมื่อเปรียบเทียบกับสุขภาพของคนในสังคมล่าสัตว์และเก็บของป่า
อีกความเห็นเกี่ยวกับชนล่าสัตว์-เก็บของป่าที่มักโดนมองข้ามอยู่บ่อยๆ ก็จะเป็นเรื่องอายุขัยโดยเฉลี่ยที่ค่อนข้างต่ำ แต่คำถามที่เกาว์ดียกมาถกเถียงกลับก็คือ มนุษย์ในยุคปัจจุบันมีอายุขัยยาวนานกว่าบรรพบุรุษจริงไหมนั้น ก็พบรายงานจากการศึกษาของ Gurven & Kaplan ที่ได้บทสรุปมาว่าช่วงชีวิตและอายุขัยของมนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนไปอะไรมากมายของช่วงเวลาทั้งหมดตามประวัติศาสตร์มานุษยชาติ
เกษตรกรรมไม่ได้ส่งผลลบต่อมนุษย์เพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชนิดพืชและชนิดพันธุ์สัตว์เลี้ยงต่างๆด้วยเช่นกัน เช่น พบการมีขนาดของสมองเล็กลง ที่พบชัดเจนมากขึ้นในมนุษย์นับมาตั้งแต่หันมาทำเกษตรกรรมอย่างมีแบบแผน แกะเลี้ยงมีขนาดสมองเล็กลงถึง 24 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลากว่า 10,000 ปี หมูเลี้ยงมีขนาดสมองเล็กกว่าหมู่ป่าถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เหตุผลของการมีขนาดสมองลดลงมีผลมาจากการมีศัตรูน้อยและไม่ขาดอาหาร สัตว์เลี้ยงจึงไม่ต้องเฝ้าระวังสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมากเท่ากับชนิดพันธุ์ป่าที่อยู่ในผืนป่า ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลถึงขนาดสมองของมนุษย์ยุคร่วมสมัยอีกด้วยเช่นกัน
ผลลัพธ์อีกอย่างหนึ่งจากการหันมาทำเกษตรกรรมก็คือทำให้มนุษย์กลายมาอยู่เป็นสังคมขนาดใหญ่มหึมา และทั้งสองอย่างก็เป็นตัวส่งผลให้เกิดการเข้าครอบครองระบบนิเวศโดยตรง เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นใน แมลงสังคม (Social insect) อย่าง มด ปลวก ต่อ แตน ผึ้ง ก็เข้าครอบครองระบบนิเวศเป็นจำนวนมากจนน่าทึ่งมีงานศึกษาที่คาดการณ์ว่าถ้าเอาน้ำหนักตัวของฝูงมดจากทั่วโลกมารวมกัน ก็จะได้น้ำหนักประมาณเดียวกันกับประชากรมนุษย์เลยทีเดียว
จากหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของสังคมเกษตรกรรมต่างๆ ในยุคแรกๆ ถูกกำหนดลักษณะเฉพาะไว้จากการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และตามาด้วยการแตกแยกทางสังคม อย่างในอารยธรรมของจักวรรดิอัคคาเดียน (Akkadian empire /Old Kingdom Egypt /the Classic Maya / และ the Harappan of the Indus vallely) อารยธรรมเหล่านี้ต่างก็ล่มแตกสลายไป เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ที่รวมไปถึง ดินเสื่อมสภาพ /ชั้นดินพังทลาย /สูญเสียชั้นดินจากการเพาะปลูกพืชอายุสั้น /ดินเค็ม /มีการจัดการน้ำผิดวิธี และไม่สามารถทนทานต่อสภาพแห้งแล้งยาวนานได้ และเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) ได้รับการยอมรับมากขึ้นว่าเป็นตัวการหลักที่ก่อให้เกิดการล่มสลายและการหยุดชะงักของสังคมในอดีต!
ทั้งการทำเกษตรกรรมและการเปลี่ยนผ่านมาสู่สังคมขนาดใหญ่มหึมา ได้เปลี่ยนแปลงการจัดตั้งชุมชนของมนุษย์ไป นี่จึงเป็นตัวที่ทำให้เกิดผลผลิตส่วนเกินทางเกษตรได้ ลักษณะเฉพาะที่กำหนดขึ้นในสังคมมนุษย์ก็คือ ชอบอยู่กันเป็นหมู่ เป็นห่วงเป็นใยต่อผู้อื่น และร่วมมือกันกับคนแปลกหน้าได้ คุณลักษณะพิเศษเช่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้มนุษย์อยู่รอดและเติบโตมาได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในยุคหิน มันยังเป็นตัวช่วยให้มนุษย์รู้จักใช้สอยทรัพยากรจากสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และมีการจัดการทางสังคมที่ความเท่าเทียมกันอีกด้วย ก่อนที่สังคมมนุษย์จะผลันตัวมาอยู่ในแบบ “Ultrasocial” ซึ่งได้ส่งผลไปอีกแบบหนึ่ง!
การปรากฏขึ้นของสังคมขนาดใหญ่มหึมา ได้นำมาสู่การสูญเสียความอิสระในระดับปัจเจกโดยตรง เพราะความอิสระส่วนตัวขัดกันกับการทำงานร่วมกันของกลุ่ม ในระบบขนาดใหญ่มหึมา (Ultrasocial system) จะไม่มีเหตุผลว่าทำไมแต่ละคนควรอยู่รอดและเติบโตในแบบของตัวเอง ซึ่งก็เหมือนเซลล์ในร่างกายหรือผึ้งในรัง เพราะบทบาทของแต่ละคนคือการทำงานเพื่อประโยชน์ของระบบส่วนรวม
เอาล่ะเป็นไงกันบ้างเอ่ย นี่เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนเท่านั้นจากตัวบทฉบับเต็ม ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่น่าติดตามกันต่อมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเนื้อหาในอีกสองส่วนใหญ่ๆ ที่เหลือของหนังสือเล่มนี้ ที่เกาว์ดี จะพาผู้อ่านเข้าไปค้นหาคำตอบเกี่ยวกับการแสวงหาอนาคตที่ยั่งยืนนั้นจะมีแนวทางเช่นไรบ้าง และจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ภายใต้ภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตที่สังคมมนุษย์และโลกธรรมชาติกำลังเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ อย่าง จากผลกระทบแบบสุดขั้วของสภาวะโลกร้อน /การขาดแคลนทรัพยากรสำคัญๆ อย่างเชื้อเพลิงฟอสซิลและก๊าซธรรมชาติ และอีกมากมายปัจจัย ที่เกาว์ดียกข้อมูลเชิงลึกมาเผยแพร่ผ่านแต่ล่ะตัวบทอย่างเข้มข้น ชวนอ่านทั้งเล่มเพื่อได้ค้นพบกับนโยบายร่วมที่ควรนำไปปรับใช้กันทั่วโลก (บทรีวิวยังไม่จบเพียงเท่านี้)
โปรดติดตามกันต่อกับบทรีวิว Ultrasocial: The Evolution of Human Nature and the Quest for a Sustainable Future (ส่วนที่ 2 The Rise and Consolidation of State/Market Societies)
และบทรีวิว Ultrasocial: The Evolution of Human Nature and the Quest for a Sustainable Future (ส่วนที่ 3 Back to the Future)
ปล. เราขอขอบคุณทุกคนที่เข้าอ่านบทรีวิวหนังสือเชิงลึกของเรา การทำบทรีวิวหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงการสานต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการทางธรรมชาติของมนุษย์ และการเปลี่ยนออกมาจากสังคมชนล่าสัตว์และเก็บของป่าในอดีต มาถึงสังคม ณ ปัจจุบันนี้ สู่สังคมไทยอีกทางหนึ่ง เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงงานเขียน งานศึกษาวิจัยอิสระ และเพื่อแบ่งปันแนวคิดที่แตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้นให้กับกลุ่มคนที่สนใจความรู้ทางนี้เป็นพิเศษ ไว้พบกันใหม่กับบทรีวิวเล่มหน้าน๊าาาา ^..^