
สุสานในเมือง: เมื่อคนเป็นต้องมาอยู่ร่วมกับคนตาย
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป กับการใช้พื้นที่สุสานที่เปลี่ยนแปลง
ท่ามกลางตึกระฟ้า และอาคารบ้านเรือนที่ขึ้นอยู่ทุกหัวแห่งถนนในพื้นที่แถบสีลม สาทร กลับมีสุสานหลากหลายเชื้อชาติทั้งสุสานจีนหลากเชื้อสาย สุสานคริสต์ สุสานมุสลิม ตั้งอยู่หลายแห่งมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
ในอดีตพื้นที่แถบนี้เคยเป็นพื้นที่เรือกสวนไร่นา ห่างจากตัวเมือง จนเมื่อเขตพื้นที่เมืองมีการขยายและเติบโตขึ้น พื้นที่แถบนี้ได้กลายเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจที่ใครๆต่างแย่งกันจับจอง เมื่อความเจริญรุกคืบเข้ามา พื้นที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเหล่านี้ที่อยู่มากว่า 100 ปีก็ถูกพัฒนาไปเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหญ่น้อย บ้างก็ยังคงอยู่แต่ไร้การดูแล จนกลายเป็นพื้นที่เกือบรกร้าง วังเวง ขาดการดูแลรักษาจากลูกหลานที่ห่างออกมาหลายรุ่น พื้นที่สุสานถูกตั้งคำถามมากขึ้นถึงการใช้ประโยชน์ที่ค่อนข้างจำกัด
คนเป็นจะอยู่ร่วมกับคนตายตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของยุคสมัยได้อย่างไร?
สุสานฮกเกี้ยนและสุสานแต้จิ๋วเป็นสุสานสาธารณะไม่กี่แห่งที่ยังหลงเหลือในย่านนี้ เมื่อเดินเข้าไปจะพบกับป้ายหลุมศพสลักหินที่บอกเล่าถึงเรื่องราวพื้นเพบ้านเกิดของบรรพชนชาวจีนโพ้นทะเล รวมถึงสถาปัตยกรรมหลุมฝังศพรูปแบบต่างๆ สุสานฮกเกี้ยนในปัจจุบัน ถูกใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่จอดรถ ขณะที่สุสานแต้จิ๋วปัจจุบันด้วยความร่วมมือจากรัฐและเอกชนเจ้าของพื้นที่ ได้กลายเป็นสวนสุขภาพที่คนนิยมมาออกกำลังกายสำหรับคนเมือง โดยยังคงสภาพการเป็นสุสานไว้
ภายใต้การพัฒนาเมืองจึงไม่ใช่การพัฒนาแค่เพียงพื้นที่ หากแต่ยังอยู่ที่วิถีชีวิตของผู้คน เป็นการพัฒนาพื้นที่ให้คนได้ใช้ชีวิตอย่างแท้จริง และนี่ก็คือการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างพื้นที่คนเป็นกับคนตาย ระหว่างวัฒนธรรมจีนที่อยู่ในไทย และระหว่างประวัติศาสตร์กับยุคสมัยปัจจุบัน โดยยังคงไว้ซึ่งหลักฐานการบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านยุคสมัย
เราเดินหน้าได้โดยไม่จำเป็นต้องลบอดีต