
ทำไมวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองถึงทรงคุณค่า และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการช่วยกันร่วมอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่ในสังคมร่วมกันสืบต่อไป
บทความสร้างสรรค์เชิงลึกฉบับนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกกับ เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Media Network: IMN)
เข้าถึงบทความฉบับเต็มได้ที่นี่: https://imnvoices.com/?p=4158
ทำไมวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองถึงทรงคุณค่า และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการช่วยกันร่วมอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่ในสังคมร่วมกันสืบต่อไป (ตอนที่ 1)
น้ำตกสอยดาว มนต์เสน่ห์สายธารแห่งตำนานผืนป่า
ใครที่กำลังเกิดคำถามเช่นนี้อยู่ในใจไว้แล้ว หรือใครที่ได้ย้อนคืนกลับมาเชื่อมโยงถึงคุณค่าและความหมายอันสำคัญยิ่งของการดำรงอยู่ในแบบฉบับของชนเผ่าพื้นเมืองอยู่แล้วนั้น คงจะทราบกันดีว่าทำไมวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองทั้งหลาย ถึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยนี้จะต้องลุกขึ้นมาศึกษาเรียนรู้กันใหม่อีกครั้ง และย้อนกลับมาช่วยกันร่วมอนุรักษ์สืบสานวิถีชีวิต วัฒนธรรมความเชื่อ และภูมิปัญญาดั้งเดิมของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองเอาไว้ให้ถ่องแท้กันยิ่งขึ้น เพื่อจะใช้เป็นรากฐานขององค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาในการปฏิบัติตนต่อโลกธรรมชาติ และต่อทุกสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกได้อย่างตระหนักรู้กันมากขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางของการดำรงอยู่ในรูปแบบใหม่ที่จะสอดคล้องกับทุกชีวิตอื่นๆ มากยิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อใช้เป็นหลักคติคำสอนทางประวัติศาสตร์บอกเล่าประจำท้องถิ่นให้กับตนเอง และรุ่นลูกหลานของเราทุกคนได้สืบทอดกันต่อไปชั่วนิรันดร์ “และก็เพื่อว่าพวกเราทุกคนจะได้ย้อนคืนกลับมาเป็นชนพื้นเมืองด้วยกันอีกครั้ง (อ่านต่อด้านล่างสุดในบทตอนที่ 2)” ที่ซึ่งจะได้กลับมาอยู่อาศัยร่วมกันอย่างอิสระและเท่าเทียม โดยมิแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง และกับทุกสิ่งมีชีวิตอื่นที่เหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมของเราได้อีกครั้งในที่สุด
หาก ณ จุดหนึ่งในอนาคตอันใกล้หรือไกลนี้ ด้วยเหตุที่ว่า “ถ้าความเจริญความพัฒนา ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสังคมยุคใหม่ จะดำเนินไปถึงจุดสูงสุด และถึงคราที่จะดับสิ้นลงไปอย่างถาวรนั้น” ตนเชื่อมั่นมากว่า สิ่งที่จะยังคงเหลืออยู่ให้พวกเราและลูกหลานของเราได้ย้อนกลับคืนมายึดมั่นถือมั่นกันอีกครั้ง ซึ่งนั่นก็คือ “องค์ความรู้ดั้งเดิมตามวิถีของชนเผ่าพื้นเมืองและตามวิถีพื้นบานในทุกจังหวัดทั่วประเทศนั่นเอง” เพราะตลอดหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่มีการบันทึกหลักฐานไว้โดยเหล่านักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา นักคิดและนักเขียนเฉพาะทาง และอื่นๆ ที่ได้บันทึกข้อมูลอย่างเป็นองค์รวม โดยส่วนใหญ่จะระบุไว้เสมอว่า “ทุกครั้งที่สังคมเกษตรและอารยธรรมโบราณในอดีตล่มสลายแตกไป ก็จะยังคงมีสังคมและวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองและวัฒนธรรมพื้นบ้านดั้งเดิมดำรงอยู่รอดต่อไปเสมอมา” และพวกเขาถือเป็นผู้คนกลุ่มเดียวตลอดประวัติศาสตร์ที่อยู่รอดผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ มาได้ทุกครั้ง ทั้งจากทางภัยพิบัติตามธรรมชาติ และจากหายนะที่ก่อโดยมนุษย์อีกกลุ่มในสังคมยุคใหม่ที่มุ่งมั่นเอารัดเอาเปรียบเพื่อนร่วมโลกอย่างหูหนวกตาบอดและบ้าคลั่ง นั่นก็คือ “กลุ่มคนในสังคมเกษตรกรรมและในสังคมอุตสาหกรรมนับมาจากยุคปฏิวัติต่างๆ ในยุคก่อนจนถึง ณ ปัจจุบันนี้เอง”
เหตุผลที่วิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ยังดำรงอยู่รอดมาได้ตลอดกาล นั่นก็เป็นเพราะว่า “พวกเขาคือมนุษย์กลุ่มเดียวที่รู้จักการเอาตัวรอดในป่าดงพงไพร หรือแม้แต่ในสังคมยุคใหม่ทุกวันนี้อีกด้วย พวกเขารู้จักแหล่งอาหาร และการนำมาประกอบอาหารอย่างหลากหลายเพื่อเลี้ยงชีพตนและครอบครัว รวมถึงญาติมิตรชิดใกล้ต่างๆ พวกเขารู้จักวิถีการรักษาเยียวยาโรคภัยให้กับตัวเองและพี่น้องที่อยู่ทั้งใกล้และไกลในยามเจ็บไข้” และที่สำคัญมากก็คือ “พวกเขารู้จักวิถีการเพาะปลูกอาหารอย่างหลากหลายมากที่สุดโดยแท้ พร้อมยังมีวิถีการทำเกษตรที่มิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนชีวิตมาโดยตลอด” และเป็นสังคมมนุษย์กลุ่มเดียวที่มีวิถีการดำเนินชีวิตที่สงบสุขและเรียบง่ายอย่างแท้จริง มีความเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้าน ชื่นชอบการแบ่งปันและการร่วมมือกันในทุกๆ อย่าง และยังถือเป็นกลุ่มคนที่รู้จักวิถีการออกหาอาหาร รู้จักการพึ่งพาธรรมชาติและการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรเพื่อส่วนรวม และวิถีการเพาะปลูกอาหารดังจะกล่าวต่อไปนี้ ซึ่งถือเป็นวิธีการเพาะปลูกอาหารของชนเผ่าพื้นเมืองโดยทั่วไป ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหารของคนในชุมชนได้ตลอดไปอีกด้วย อาทิเช่น:
· “การทำไร่หมุนเวียน (Shifting cultivation)” ด้วยวิถีต่างๆ ของแต่ละชนเผ่าพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งต่างก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “การเลี้ยงชีพเพื่อความอยู่ดีมีสุข ความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาและจิตวิญญาณ และการพึ่งพิงอาศัยธรรมชาติมาโดยตลอด” มากกว่าที่จะเป็นการทำลายล้างสรรพชีวิต หรือทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่ถูกกล่าวหาจากทางภาครัฐและเหล่านายทุน การทำไร่หมุนเวียนคือ วิถีการทำเกษตรนิเวศ หรือ (Ecological farming) อีกวิถีหนึ่ง ที่มีความสลับซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก ซึ่งเน้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูและการดูแลพืชพรรณและสัตว์ป่าเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม เน้นเรื่องการเพาะปลูกอย่างหลากหลายในแต่ละฤดูกาลทั้งพืชพรรณพื้นบ้านและพันธุ์ป่า และในแต่ละช่วงเวลาที่สับเปลี่ยนพื้นที่ทำไร่ ก็จะเน้นความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาในแต่ละช่วง หรือที่เรียกว่า (Ecological succession) นับไปตั้งแต่ระดับพื้นหญ้าไปจนถึงการมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง และก็หมุนเวียนพื้นที่ทำไร่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ภายในช่วงเวลา 7-12 ปี ของวัฐจักรการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงทางภาคเหนือในเมืองไทย และ ภายในช่วงเวลา 7-10 ปีโดยเฉลี่ยในประเทศอื่นๆ ของภูมิภาคเอเชีย
ภาพพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ที่มีพืชผักพื้นบ้านและตามที่เกิดเองเกิดปะปนกันอยู่ รวมกับจุดทำไร่บนที่สูงข้ามภูเขาไปด้านบน โดยมีป่าที่ฟื้นตัวแล้วกั้นอยู่ระหว่างไร่หมุนเวียน (Cr. ภาพจากเพจ การทำไร่หมุนเวียนตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของกะเหรี่ยง Rotational Farming)
· การเพาะปลูกพืชสวนด้วยเทคนิควิถีต่างๆ ของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก (Indigenous horticultural techniques) ซึ่งมีการเพาะปลูกพืชอาหารในพื้นที่เล็กๆ อย่างผสมผสานหลากหลายและสอดคล้องกลมกลมกับแนวทางของธรรมชาติ กล่าวคือเน้นการปลูกพืชร่วมที่โตด้วยกันได้ และส่งเสริมการเติบโตของกันและกันได้สูง โดยเลือกพื้นที่ทำการเพาะปลูกเพื่อยังชีพ อาจจะเป็นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ไม่จำกัด และเป็นวิถีการเพาะปลูกที่ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติไว้ไปด้วยในตัวเพื่อคนรุ่นหน้าจะยังมีแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ได้อีกตราบนานเท่านาน จนแยกไม่ออกว่าวิถีการเพาปลูกเช่นนี้ดูเหมือนป่าตัวจริงหรือป่าปลูกกันแน่ ในระยะยาวเมื่อทุกอย่างงอกงามเติบโตอย่างสมบูรณ์แล้ว
ภาพชนเผ่าพื้นเมืองจากทวีปอเมริกาใต้ ในผืนป่าดิบชื้นอเมซอน (ชาว Yanomami) ทำการเพาะปลูกพืชสวนในพื้นที่ทำกินเล็กๆ โดยมักปลูก พืชกินหัว อย่างมันพื้นบ้านและมันป่า พืชผัก ไม้ผล บางทีก็ปลูกพืชไร่ และได้แหล่งอาหารส่วนอื่นๆ มาจากการเก็บหาของป่าและล่าสัตว์
· รวมถึงรู้จักเทคนิควิถี การออกล่าสัตว์และเก็บของป่า (Hunting and Gathering) หรือรู้จักออกหาพืชอาหารกินเอง (Foraging) อย่างเชี่ยวชาญมาแต่กำเนิด “ซึ่งจัดเป็นวิถีการดำรงอยู่ที่ยาวนานมากที่สุดของเผ่าพันธุ์มนุษย์เรา คิดเป็น 99 เปอร์เซ็นต์ของมนุษย์สกุลโฮโม” กล่าวคือ เป็นวิถีการเลี้ยงชีพที่พึ่งพาธรรมชาติและพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ซึ่งเน้นการออกเก็บหาอาหารในผืนป่า ออกล่าสัตว์ป่า ออกตกปลา สัตว์น้ำชนิดต่างๆ และเก็บเกี่ยวพืชหัว พืชผล เห็ดป่า แมลง น้ำผึ้ง และไม้ผลที่กินเมล็ดได้ในผืนป่าเท่านั้น เป็นต้น “จึงถือเป็นสังคมมนุษย์สังคมเดียวที่มีแหล่งอาหารการกินตามธรรมชาติที่หลากหลายมากที่สุด และทำงานน้อยมากที่สุดอีกด้วย” เพราะแทบจะไม่มีการเพาะปลูกพืชอาหารใดๆ เลย แต่ก็สามารถดำรงชีพอยู่มาได้อย่างยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้เลยทีเดียว อย่างน้อยๆ ก็ยังมีกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่ยังทำการล่าสัตว์และออกหาของป่าหลงเหลืออยู่บ้างในบางประเทศและในทุกทวีป และในประเทศไทยก็ยังมีอยู่บ้างเช่นกัน อย่าง “ชาวมานิ ชาวมอแกน และชาวมละบริ” แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นต่างก็กำลังถูกบีบคั้นให้หยุดดำรงชีพด้วยวิถีเช่นนี้ไปอย่างถาวรก็ตามที “แต่วิถีชีวิตในแบบชนล่าสัตว์และเก็บของป่า คือวิถีชีวิตตามธรรมชาติของมนุษย์สกุลโฮโมมาตลอดช่วงเวลากว่า 3,000,000 ปีเลยทีเดียว!” จึงเรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ยั่งยืนมากที่สุดและสามารถดำเนินต่อมาได้ยาวนานมากที่สุดอีกด้วย ดังนั้น
“หากสังคมยุคใหม่นี้จะไร้ซึ่งเงินสดลงเมื่อใดก็ตามที และจะไร้ซึ่งสิ่งของอำนวยความสะดวกต่างๆ ไปตอนไหนก็ได้นั้น กลุ่มคนที่รู้จักการล่าสัตว์และเก็บของป่า และกลุ่มคนพื้นเมืองต่างๆ ที่รู้จักวิถีการเพาะปลูกอย่างหลากหลายหล่านี้ ก็จะยังเป็นผู้คนกลุ่มเดียวที่จะยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างง่ายดายในอนาคตอย่างแน่นอน”
กลุ่มชนล่าสัตว์และเก็บของป่า “ชาวปีนัน” เก็บเกี่ยวพืชผลในป่าเป็นอาหารอย่างหลากหลายครบรส เป็นร้อยๆ ชนิด มีเห็ดป่าหลายชนิด และพืชผักป่า และพืชปาล์มอีกหลายชนิดที่กินได้ แค่นี้ก็อิ่มท้องกันทั้งครอบครัว โดยไม่ต้องทำการเพาะปลูกใดๆ เลย (ภาพถ่าย ณ แห่งแม่น้ำอุบง ในผืนป่าดิบชื้นบนหมู่เกาะบอร์เนียว ปี ค.ศ.1993) รัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย (จากหนังสือ “Nomads of the Dawn: The Penan of the Borneo Rain Forest)
การดำรงอยู่ในสังคมชนเผ่าพื้นเมืองในยุคก่อนเกษตรกรรม ยุคก่อนอุตสาหกรรม และยุคร่วมสมัย คือสิ่งที่พวกเราทั้งหลายในยุคสมัยนี้ คงจะคาดฝันกันไม่ถึงหรอกว่า บรรพบุรุษของพวกเราในยุคนั้น หรือในยุคนี้เอง ต่างก็ดำรงอยู่อย่างเรียบง่ายและสอดคล้องกลมกลืนกับโลกธรรมชาติได้สูงมากเพียงใด “เพราะสังคมยุคใหม่ไม่อนุญาตและไม่เปิดโอกาสให้พวกเราได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้อย่างลึกซึ้งเท่าที่ควร!” กลับกันในสังคมยุคใหม่ ณ ปัจจุบันนี้ ก็มีแต่จะเบียดขับ ปิดกั้น และผลักดันให้พวกเราทั้งหลายมุ่งมั่นไปแต่ข้างหน้าเสียอย่างเดียว จนแทบจะไม่เหลือใครที่จะยังคงจดจำวิถีชีวิตดั้งเดิมกันได้อีกต่อไป “ซึ่งถือเป็นวิถีชีวิตที่ทรงคุณค่าต่อการสืบสานเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ยิ่งในยามวิกฤตของสังคมที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วโลกเช่นนี้” กล่าวคือ ถ้าหากสูญสิ้นความเป็นอยู่ในยุคสังคมโลกาภิวัตน์ไป ณ จุดหนึ่ง แล้ววิถีชีวิตแบบใดจะยังช่วยเหลือให้พวกเราอยู่รอดต่อไปได้อีกเล่า หากมิใช่ “วิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง และวิถีชีวิตพื้นบ้านดั้งเดิมของพวกเราทุกคนเอง!” ขอชวนสัมผัสกับวิถีชีวิต และหนทางการหยั่งรู้ผ่านเรื่องเล่าในอดีตกาล ของชนเผ่าพื้นเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง “ชาวสินอย (The Aboriginal Sng’oi)” ในประเทศมาเลเซีย จากหนังสือเล่มนี้: “Original Wisdom: Stories of an Ancient Way of Knowing เขียนโดย Robert Wolff” เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่าเป็นหลัก เคลื่อนย้ายถิ่นไปตามแหล่งอาหาร มีวิถีการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ชื่นชอบการใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันเสมอ ไม่รู้จักความเร่งรีบและความขัดแย้ง พวกเขาคือผู้คนที่มีความอิสระเสรีโดยแท้ในแบบของตนเอง ซึ่งก็มีบรรพบุรุษร่วมกันกับ “ชาวมานิ หรือ Mani” ทางฝั่งภาคใต้ของประเทศไทยนับมาตั้งแต่ยุคอดีตที่เคยเดินทางข้ามภูเขาถึงกันมาก่อนอีกด้วย
ฉะนั้นในแง่ของการดำรงอยู่และความเชื่อทางจิตวิญญาณของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมทั้งสอง จึงมีความคล้ายคลึงกันมากเป็นที่สุด แม้ว่าความทันสมัยจะได้เข้ามาแทรกแซงวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมของพวกเขาไปแล้ว แต่เรื่องความเฉลียวฉลาดในการเอาตัวรอด และเรื่องธรรมชาติโดยแท้ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็จะยังคงอยู่กับพวกเขาไปตลอดกาล ชวนดูตัวอย่างเพิ่มเติมกับชนเผ่าพื้นเมือง “ชาวปินัน (The Penan)” ที่ยกตัวอย่างไว้ด้านบน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม ที่เคลื่อนย้ายถิ่นไปตามแหล่งอาหารในแต่ละฤดูกาล และเป็นชนล่าสัตว์และเก็บของป่าในยุคสุดท้าย ที่ยังดำรงอยู่เช่นนี้ต่อมาจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นก็โดนรัฐชาติบีบบังคับให้ออกจากป่า โดนทำลายหลักความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิม และโดนทำลายที่อยู่อาศัยในผืนป่าบอร์เนียวที่เป็นบ้านเกิดของพวกเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนดิบชื้นอันเก่าแก่และอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกไปอย่างถาวร เล่มนี้เลย: “Nomads of the Dawn: The Penan of the Borneo Rain Forest เขียนโดย Wade Davis / Ian MacKenzie และ Shane Kennedy”
ผู้เขียนได้สะท้อนมุมมองทางวัฒนธรรมของพวกเขาไว้ว่า “ตามที่ผืนป่าเลือนหายไป วัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ก็ตกเป็นคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานมากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีองค์ความรู้อย่างละเอียดลึกซึ้งในผืนป่ามาเป็นหลายพันปี ทั้งจากหญิงและชายที่ไร้ซึ่งเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนแปลงผืนป่า แต่พวกเขาเลือกที่จะเข้าใจหนทางของผืนป่าแทน ตอนนี้มีชนเผ่าพื้นเมืองเป็นร้อย ๆ ชนเผ่าที่กำลังประสบกับการโดนทำลายล้างวัฒนธรรม ที่พวกเราเฝ้าเห็นเป็นพยานในการสูญเสียภูมิปัญญาที่พวกเขาสั่งสมมาเป็นพันๆ ปี ไปภายในคนเพียงรุ่นเดียว” ตนขอนำเสนอเสียงสะท้อนของชาวปินันบางส่วน ในบางบทตอนของหนังสือเล่มนี้ถึงผลกระทบที่พวกเขาได้รับจากคณะรัฐบาลที่อนุญาตให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจค้าไม้เชิงพาณิชย์อย่างมักง่าย และจงใจที่จะทำลายวิถีชีวิตของชาวปีนันไปอย่างถาวร ดังนี้:
“รัฐบาลบอกว่ากับพวกเราว่า จะเอาความพัฒนาและความก้าวหน้ามาสู่เรา แต่ความพัฒนาที่เราได้เห็นกลับมีเพียง การตัดไม้ ตัดถนน และโยกย้ายแหล่งที่อยู่อาศัยของเรา สำหรับเราชาวปีนัน สิ่งที่รัฐเรียกกันว่าความก้าวหน้า มันแค่หมายถึง ความอดอยากหิวโหย ต้องพึ่งพาคนอื่น และทำให้วัฒนธรรมของเราเสื่อมเสีย รัฐบาลบอกว่ามันคือการสร้างงานให้ชนเผ่าเรา แต่งานเหล่านี้จะหายไปพร้อมๆ กับผืนป่า ในเวลาอีก 10 ปี งานเหล่านั้นก็จะหมดไป และผืนป่าที่หล่อเลี้ยงพวกเรามานานนับพันปีก็จะสูญหายไปหมดเช่นกัน ทำไมเราถึงต้องมีงานทำ? ทั้งพ่อและคุณตาของเราต่างก็ไม่เคยของานจากรัฐบาลเลย พวกเขาไม่เคยถูกว่าจ้างอีกด้วย พวกเขาดำรงอยู่มาได้กับที่ดินและด้วยผืนป่า มันคือวิถีชีวิตที่ดีมาก เรามีเวลาว่างมากมาย แล้วเราก็ไม่เคยต้องอดอยาก”
นอกจากนี้แล้ว ยังมีตัวอย่างอีกมากมายว่าทำไม “องค์ความรู้ดั้งเดิมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกถึงมีความสำคัญยิ่ง” ที่พวกเราทั้งหลายควรจะหันกลับมาศึกษาเรียนรู้และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเรากันให้มากยิ่งขึ้น “เพราะโดยเนื้อแท้แล้วมนุษย์ไม่ได้ชอบทำลาย” กล่าวคือ พวกเราทุกคนล้วนที่จะสามารถย้อนคืนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติได้ เราสามารถที่จะย้อนกลับมาดำรงอยู่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับเหล่าพืชพรรณและสัตว์ป่าร่วมกันได้อีกครั้ง และที่สำคัญพวกเราสามารถที่จะย้อนกลับมาฟื้นคืนความสัมพันธ์อันดีงามต่อกัน และร่วมมือกันให้เกิดประโยชน์สุขของทุกฝ่ายได้ และดำรงอยู่ต่อไปด้วยความเข้าใจถึงความหมายของการเป็นมนุษย์ได้เฉกเช่นเดียวกับชนเผ่าพื้นเมืองทั้งหลายอีกด้วย “เพราะวิถีชีวิตและการดำรงอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกต่างก็มีบทบาทที่เกื้อกูลต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของโลก ที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องพึ่งพิงอาศัยกันมาอย่างสอดคล้องกลมกลืนกันมาโดยตลอด เมื่อเทียบกับสังคมเกษตรกรรมแบบเบ็ดเสร็จ หรือ Totalitarian agriculture และอารยธรรมอุตสาหกรรม หรือ Industrial civilization ในยุคปัจจุบันที่มุ่งทำทุกสิ่งอย่างแบบตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง”
ชวนศึกษาความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชนของชนเผ่าพื้นเมือง “ที่คิดเป็นเพียงน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก” แต่กลับเป็นผู้คนที่ปกป้องดูแลรักษาความหลากหลายของพืชพรรณและสัตว์ป่าในโลกได้สูงมากที่สุด สืบค้นตัวอย่างได้ที่นี้: พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ทำกินของชนเผ่าพื้นเมือง และหากมีการสำรวจเพิ่มเติมไปทุกๆ แห่งที่มีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่อาศัยมา ก็จะพบความหลากหลายของทุกสิ่งมีชีวิตที่มากมายอย่างน่าทึ่งเช่นเดียวกันนี้อย่างแน่นอน!
อนึ่ง หากสังคมยุคใหม่อยากจะหันมาใช้คำว่า “การดำรงอยู่ในสังคมอย่างยั่งยืน หรือการก้าวไปสู่สังคมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในอนาคตกันบ่อยยิ่งขึ้น” พวกเราทั้งหลายควรย้อนกลับมาที่จุดกำเนิดของสังคมที่มีความเท่าเทียมกันและดำรงอยู่กันมาอย่างยั่งยืนได้จริงๆ ตลอดประวัติศาสตร์ให้ถ่องแท้กันเสียก่อน ที่จะเริ่มต้นใช้คำว่า “ความยั่งยืน” ในมิติต่างๆ กันต่อไป เพราะไม่เช่นนั้น ทั้งเหล่าภาครัฐ นายทุน บรรดานักธุรรกิจน้อยใหญ่โดยทั้งหลาย รวมถึงเหล่าผู้นำโลกทั้งหลาย คงจะหยิบยกคำนี้ไปใช้กันโดยผิดๆ (ซึ่งก็เกิดขึ้นอยู่แล้ว และไม่ค่อยมีใครจะเอะใจสักเท่าไหร่!) แต่หนทางที่สำคัญต่อการออกแบบอนาคตอย่างยั่งยืนคืออะไร? และต้องเริ่มอย่างไรกันแน่นั้น? ชวนสืบค้นได้จากผลงานตีพิมพ์ชิ้นล่าสุด จากสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Institute for Sustainable Development หรือ IISD) ที่บ่งชี้ไว้ว่า: องค์ความรู้ดั้งเดิม และระบบความรู้ของชนเผ่าพื้นเมือง คือหนทางสำคัญต่อการออกแบบอนาคตที่ยั่งยืนได้สำหรับทุกคน
ชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ คือผู้คนที่มีความหลากหลายทางความคิดและวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก ซึ่งมีจำนวนประชากรโดยรวมประมาณ 370 ล้านคนทั่วโลก มีพื้นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองทั่วโลก คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ และมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากถึง 5,000 วัฒนธรรมทั่วโลกอีกด้วย ถึงแม้ว่าพวกเขาจะถูกนับว่าเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยก็ตามที! พอเทียบดูกับการมีเพียงวัฒนธรรมเดียวเท่านั้นที่สังคมยุคใหม่ยึดถือปฏิบัติกันอยู่ในตอนนี้ คุณคิดว่าใครกันจะสามารถอยู่รอดต่อไปได้มากกว่า ทั้งในตอนนี้แล้วและในอนาคตอีกด้วย ระหว่างกว่า 5,000 วัฒนธรรมทั่วโลก ที่ดำรงอยู่สืบทอดกันมาอย่างช้านานนับหลายพัน หลายหมื่น และหลายแสนปี กับเพียงวัฒนธรรมเดียวของความเป็นโลกาภิวัตน์ทั่วโลก หรือ Globalization ที่พึ่งมีมาเมื่อไม่กี่ร้อยปีนี้เอง? ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมเดียวเท่านั้นที่มักทำลายล้างทุกสรรพชีวิตอื่นๆ และยังกลืนกินฐานทรัพยากรส่วนรวมของโลกไปอย่างรวดเร็ว จนมิอาจจะนำกลับคืนมาได้เพียงในช่วงเวลาอันสั้นๆ อีกต่อไป!
องค์ความรู้ดั้งเดิมทางนิเวศวิทยา หรือ Traditional ecological knowledge (TEK) ของ “ชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน (Native-American)” ในหลากหลายมิติ ได้ช่วยเหลือให้ชาวโลกเริ่มตั้งคำถามกับสังคมยุคใหม่ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ที่ซึ่งกำลังหลงลืมบทบาทสำคัญของมนุษย์บนผืนดินที่ทำกินของตนเองไปเสียแล้ว ชวนนึกคิดไปด้วยกันกับตัวอย่างคติคำสอนดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองชาว “Anishinabekwe (คำอ่าน อานิชาเบกเว)” ทางฝั่งอเมริกาเหนือ เช่นว่า “สำหรับพวกเราทุกคน การเป็นคนพื้นเมืองในพื้นที่ใดสักแห่งหนึ่ง ย่อมหมายถึง การดำรงชีวิตอยู่ราวกับว่าอนาคตลูกหลานของคุณมีความสำคัญยิ่ง ด้วยการดูแลผืนแผ่นดินราวกับชีวิตของตน ทั้งทางจิตวิญญาณ และทางวัตถุต่างก็ต้องพึ่งพาดินผืนแห่งนั้นเสมอ” และผู้เขียนยังชี้ให้เห็นถึงความชัดเจนของนิสัยใจคอของ “ผู้รุกรานคนต่างถิ่น” ที่เข้ามาครอบครองพื้นที่ทำกินของชนเผ่าพื้นเมืองไว้อย่างชัดเจน ดังเช่น “ในจิตของผู้ตั้งรกราก ที่ดินถือเป็นแค่ทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ ทุนทรัพย์ หรือเป็นแค่ทรัพยากรธรรมชาติ แต่สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองของพวกเรา ที่ดินเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเอกลักษณ์ เป็นจุดเชื่อมโยงกันกับบรรพบุรุษของเรา เป็นบ้านสำหรับมิตรสหายที่มิใช่มนุษย์ เป็นร้านยาของเรา เป็นห้องสมุดของเรา และเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงพวกเราทั้งมวล” คติคำสอนเช่นนี้ล้วนแสดงถึงอัตลักษณ์และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนพื้นเมืองทั่วโลกทั้งนั้น ชวนอ่านต่อกับบทรีวิวของหนังสือนี้เล่มนี้: “Braiding Sweetgrass : Indigenous Wisdom, Scientific Knowledge and The Teachings of Plants เขียนโดย Robin Wall Kimmerer”
ตามที่ได้กล่าวไปทั้งหมดเบื้องต้นนี้ คงจะสร้างความตื่นรู้และความเข้าใจถึงภาพใหญ่ให้กับคุณผู้อ่านได้มากพอแล้วว่า ทำไมวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองถึงทรงคุณค่า และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการช่วยกันร่วมอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่ในสังคมร่วมกันสืบต่อไป จากนี้ตนจะพาคุณผู้อ่านไปเสาะหาคำตอบกันต่อว่า แล้วทำไมเราๆ จึงไม่ค่อยได้ยินเรื่องราวเช่นนี้จากประวัติศาสตร์ของชนเผ่าพื้นเมืองกันเท่าไหร่เลยล่ะ ทั้งๆ ที่ก็เห็นชัดเจนมาก ทั้งในเรื่องของ องค์ความรู้ดั้งเดิม วิถีชีวิตดั้งเดิมที่ยั่งยืน ความเชื่อทางจิตวิญญาณที่หล่อเลี้ยงดวงจิตของทุกคนให้สมบูรณ์อยู่เสมอ และวัฒนธรรรมดั้งเดิมของกลุ่มคนพื้นเมืองต่างๆ ซึ่งพอมองโดยรวมแล้ว ล้วนมีความเป็นอยู่ที่ร่มเย็นเป็นสุข และเป็นหนึ่งเดียวกันกับโลกธรรมชาติเสมอมา!
ตัวอย่าง คติคำสอนดั้งเดิม อาหารการกินและวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้นของคนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงหลายกลุ่มคน ทางภาคเหนือในประเทศไทย จากนิตยสารสารคดีชุดกะเหรี่ยงคนของป่า “ออทีเกอตอที ออก่อเกอตอก่อ หมายถึง กินน้ำต้องรักษาน้ำ กินอยู่กับป่าต้องรักษาป่า”
หมายเหตุ: โปรดอ่านต่อในบทตอนที่ 2!